เล่าประสบการณ์ติดอยู่ในซูดาน 2 วัน ทำไมถึงกลับบ้านไม่ได้ ตอนเงินแทบไม่มีเหลือ

“คุณไปไม่ได้แล้ว…” จอร์จ ชายชราชาวกรีก ผมขาวโพลน หันมาบอกฉัน หลังจากเขาละสายตาจากจอโทรทัศน์ที่กำลังประกาศข่าวสำคัญอะไรสักอย่างเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งฉันเองก็ไม่อาจเข้าใจได้

ฉันเงียบ..มองทะลุเข้าไปในแว่นตาของจอร์จ เป็นนัยว่าต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด…เราทุกคนที่นี่ กำลังปลอดภัยหรือเปล่า

จอร์จเข้าใจฉันโดยไม่ต้องพูดสักคำ เขาอธิบายเพิ่มเติมให้นักท่องเที่ยวตัวคนเดียว ผู้กำลังรอรถไปสนามบินคาร์ทูมในอีกไม่กี่นาทีอย่างฉันฟังว่า ฉันกลับบ้านตอนนี้ไม่ได้แล้ว มันไม่ปลอดภัย เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งติดอาวุธสงครามครบมือพร้อมรถปิคอัพ เข้าปิดถนนทางเข้าสนามบินพอดิบพอดี มีคนได้ยินเสียงปืนอยู่ทั่วไป

“คนกลุ่มหนึ่งติดอาวุธสงคราม พร้อมรถปิคอัพ…”

ฉันคิดในใจ อาจเป็นเพราะสถานการณ์อันฉุกละหุกตอนนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นฝีมือของคนกลุ่มไหนกันแน่

ทหาร หรือพลเรือน ?

หรือนี่คือการก่อการร้ายหรือเปล่า??

อย่างหลังที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ผุดขึ้นมาอยู่ในหัว เพราะสถานการณ์ทางการเมืองโลกตอนนั้นเหมือนเป็นไฟคุกรุ่น พร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ ต้นเดือน มกราคม 2020 เป็นช่วงเวลาหลังจากที่สหรัฐฯ ลอบสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านได้ไม่นาน สถานการณ์ในแถบตะวันออกกลางต้องจับตาอยู่ตลอด แม้ฉันจะอยู่ในซูดาน ไม่ได้อยู่ในตะวันออกกลาง แต่สายการบินหลักที่มาลงที่นี่ก็เป็นของตะวันออกกลางทั้งนั้น และอยู่ไม่ไกลจากตะวันออกกลางนัก

ความไม่ชัดเจน ทำให้เราต้องคาดเดากันไปต่างๆ นานา

ที่รู้แน่ๆ คือ ถ้าฉันออกไปเร็วกว่านี้สัก 10 นาที ฉันก็จะติดอยู่ท่ามกลางวงล้อมของกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น!!

นั่งดูข่าวในล็อบบี้ ก่อนออกไปสนามบิน จนข่าวนี้โผล่ขึ้นมา
ร้านค้า ไม่ไกลจากโรงแรม ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดโทรม
ภาพนี้ถ่ายจากระเบียงของโรงแรม ตอนกลางวัน

ฉันยังไม่ปลงใจเชื่อว่าตัวเองจะโชคดีเสียทีเดียว เพราะอยู่ในโรงแรมก็ใช่ว่าจะปลอดภัย สายตาฉันจับจ้องแต่บันไดของโรงแรม, ทางเข้า, ทางออก, ทางหนีทีไล่ เพราะจากที่ได้อ่านมา เคยมีประวัติว่ามีกลุ่มก่อการร้ายขึ้นมาสังหารคนถึงในโรงแรม เมื่อปี 1988

จอร์จ ผู้เป็นเจ้าของโรงแรมชาวกรีกแห่งหนึ่งของเมืองคาร์ทูม ซูดาน มีสีหน้าเรียบเฉยและสงบมาก เขาคงรู้ว่าฉันกำลังอ่านสีหน้าของเขาอยู่ และเพื่อไม่ให้ฉันกระวนกระวายใจ จอร์จต้อง ‘Keep calm’ ให้มากที่สุด ราวกับเป็นเหตุการณ์ปกติ

‘ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่สนามบินถึงจะเปิดทำการตามปกติ ขอให้คุณนั่งรอฟังข่าวเป็นระยะๆ อยู่ในล็อบบี้ก่อนก็ได้นะ’

ภาพนี้ถ่ายจากแท็กซี่ บริเวณที่พัก อยู่ไม่ไกลนักจากแหล่งหน่วยงานราชการ กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ประท้วงจากหน่วยกำลังพิเศษ

ฉันมองกระเป๋าเป้แบ็คแพ็คอย่างเลื่อนลอย มีนักข่าวชาวอเมริกันสูงวัย หน้าตาสะสวยคนหนึ่ง ที่ฉันได้รู้จักที่นี่มาก่อนหน้านี้ เธอเดินเข้ามาหาฉัน

‘ฉันรู้ข่าว จากแหล่งข่าวแล้ว ฉันได้รับแจ้งข่าวทางอีเมล เธอกลัวหรือเปล่า?

‘ก็….ถือว่าโชคดีค่ะที่ยังไม่ได้ออกไปสนามบิน ไม่งั้นคงแย่’

‘ไม่เป็นไรหรอก รอฟังข่าวอยู่ที่นี่ละกันนะ เธอคงรู้นะว่าเกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน แม้สนามบินจะเปิดได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสายการบินจะยอมบินมาลงอีกหรือเปล่า พวกเขาน่ะต้องระวังตัวสุดๆ เลย หลังจากเกิดเรื่องที่อิหร่านน่ะ

ฉันก้มลงมองตั๋วสายการบิน อิมิเรตส์ ในมือ ด้วยสายตาว่างเปล่า…

นักข่าวผู้นี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์วันนั้นให้ฉันฟังอย่างเป็นกันเองว่า เกิดจากกลุ่มกำลังพิเศษของทหารกลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ พวกเขาประท้วงกันเรื่องเงินเบี้ยเลี้ยงอะไรสักอย่าง และได้นำกองกำลังเข้าปิดล้อมสนามบิน ใช้กระสุนจริงยิงปืนขึ้นฟ้าบริเวณนั้น

ไม่ใช่การก่อการร้าย…

ฉันแอบโล่งใจไปเปราะนึง…เพราะเคยได้ยินมาว่า หากเกิดจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง เป้าหมายจู่โจมจะไม่ใช่นักท่องเที่ยว

KHARTOUM, SUDAN – JANUARY 14: Members of the Sudanese Army block roads in Khartoum, Sudan on January 14, 2020. Protests in the streets of the capital Khartoum, staged by some of intelligence service soldiers, ended after the army became involved. Sudanese Prime Minister Abdallah Hamdok reiterated Tuesday confidence in government forces to contain and control security tension in the capital of Khartoum. “We assure our citizens that the events are under control, we will not stop our march, and they will not cause a retreat from the goals of the revolution,” Hamdok said on Facebook after intelligence service soldiers fired shots into the air in the city. Government spokesman Faisal Mohamed Saleh said in a statement that some areas of the capital witnessed a rebellion by operations forces of the General Intelligence Agency, as units took to the streets, established barricades and fired bullets into the air. He said events took place in response to a decision by the intelligence service to dismiss the Operations Authority, prompting some units to refuse financial compensation in severance because it was lower than what they deserve. ( Mahmoud Hajaj – Anadolu Agency )

เหตุการณ์นี้ดูเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในซูดานที่ผ่านๆ มา โดยขอเล่าเบื้องหลังตามลำดับ ให้ได้รู้จักซูดานกันคร่าวๆ ดังนี้

1) ซูดาน ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา (Africa) ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับซูดาน ก็จะมีอียิปต์, อีริทเรีย, ชาด และเอธิโอเปีย โดยมีเมืองหลวงคือเมืองคาร์ทูม (Khartoum) ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ติดทะเลแดง (Red Sea) ซึ่งคั่นประเทศซูดานจากตะวันออกกลาง

Credit Map: Britannica

2) ซูดาน มีประวัติศาสตร์ด้านอารยธรรมในลุ่มแม่น้ำไนล์ มายาวนานไม่แพ้อียิปต์ จนทุกวันนี้ก็ยังมีแหล่งประวัติศาสตร์ของนูเบีย หรืออาณาจักรคุชโบราณ ให้ได้เที่ยวชมกันอยู่ จนมีคนขนานนามว่า ‘ซูดาน…เป็นเมือง Unseen ที่โลกลืม แถมยังมีพีระมิดมากกว่าอียิปต์เสียอีก’

กลุ่มพีระมิดแห่งเมโรว์ ซูดาน Meroe Pyramids เป็นกลุ่มพีระมิดที่อยู่ในสภาพกึ่งสมบูรณ์ เคยถูกนักสำรวจและโจรปล้นสมบัติ ใช้ระเบิดไดนาไมต์ระเบิดมาก่อน จนพังทลาย มีความพยายามจะบูรณะ แต่ทำได้เพียงบางส่วน ปัจจุบันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าหลงใหล ภาพกลุ่มพีระมิดตั้งตระหง่าน แต่โดดเดี่ยว ท่ามกลางทะเลทรายที่รกร้าง อ้างว้าง ปราศจากผู้คน

3) ซูดานในยุคสมัยปัจจุบัน ประสบกับภาวะความไม่สงบทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการประท้วงเพื่อโค่นล่มประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ (Omar al-Bashir) ที่ปกครองซูดานโดยรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี! นับตั้งแต่ได้ทำรัฐประหารขึ้นเป็นรัฐบาล

จากนั้นก็มีการประท้วงจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมายาวนาน เนื่องจากความไม่พอใจด้านเศรษฐกิจที่แย่ลงเรื่อยๆ ความขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง รวมทั้งประชาชนมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาของซูดานยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

บรรยากาศที่คาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน

4) เม.ย. 2019 นาย โอมาร์ อัลบาชีร์ ก็ถูกโค่นล้ม โดยการรัฐประหารเหมือนกันจากกองทัพ

5) เพื่อไม่ให้การเมืองวนลูปเดิม ประชนชนเรียกร้องให้มีพลเรือนเข้าไปบริหารในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ เรียกว่าคืนอำนาจให้กับประชาชน มีการประท้วงจากหลายกลุ่มอาชีพ สิ่งที่น่าจดจำและเป็นไวรัล คือมีหญิงผู้ประท้วงหนึ่งในนั้น แต่งกายเป็น ‘กันดากา’ หรือ ‘ราชินีนูเบีย’

6) 3 มิ.ย. 2019 ถึงคราวแตกหัก เมื่อฝ่ายรัฐบาลทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม มีการใช้กระสุนจริงในการปราบปราม ทำให้ประชาชนของตัวเองเสียชีวิตไปกว่า 118 คน (ตัวเลขจากฝ่ายต่อต้าน / ทางการรายงาน 60 กว่าคน) มีผู้หญิงถูกข่มขืน 70 กว่าคน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

มีสื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสังหารหมู่ที่คาร์ทูม’ เหตุการณ์ครั้งนี้เลวร้ายมาก ถึงขนาดเข้าไปยิงประชาชนในโรงพยาบาล และลากศพไปทิ้งแม่น้ำไนล์

Ref.

แม่น้ำไนล์ ในเมืองคาร์ทูม ซูดาน
ริมแม่น้ำไนล์

7) 14 ม.ค. 2020 วันที่ฉันกำลังจะเดินทางกลับไทย ก็มีทหารกลุ่มกองกำลังพิเศษเข้าปิดถนนหน้าสนามบิน และยิงปืนขึ้นฟ้าไปทั่ว จุดประสงค์เพื่อต้องการประท้วงเกี่ยวกับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับอย่างไม่เป็นธรรม ภายหลังกลุ่มกำลังนี้ได้ออกมาประกาศให้ประชาชนและคนต่างชาติอยู่ในเคหะสถานจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ และให้อยู่ห่างจากบริเวณหน่วยงานของกองทัพ

Ref. มีหลายสำนักข่าวที่ลงข่าวของเหตุการณ์ในซูดานวันนั้น เช่น

บรรยากาศในโรงแรม

ถือได้ว่าโชคดีมาก ที่วันนั้นไม่ได้มีการก่อการร้าย และโชคดีมากที่ไม่ได้ออกไปเร็วกว่าที่กำหนด เพราะหากไปเร็วกว่านั้นอีกไม่กี่นาทีก็จะติดอยู่ท่ามกลางกลุ่มกำลังทหารนั้นพอดี

ฉันติดอยู่ที่นั่น 2 วัน นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องลุ้นมาก ว่า จะได้กลับบ้านก่อน’ หรือ ‘เงินในกระเป๋าจะหมดก่อน’ เพราะซูดานถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ไม่สามารถใช้บัตรเครดิต ณ ดินแดนแห่งนี้ได้ ต้องพกเงินสดมาอย่างเดียว

ส่วนฉันก็พกเงินสดมาจำกัด เพราะทริปซูดานของฉัน เป็นทริปที่ฉันเดินทางต่อเนื่องมาจากโมร็อคโค-ดูไบ ซูดานเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายก่อนฉันจะกลับไทย เงินที่เหลือจึงคำนวณมาอย่างพอดิบพอดี ไม่ได้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินว่าต้องติดอยู่ที่นี่อีกสองวัน

โชคดีที่จอร์จช่วยลดค่าโรงแรมให้ และโชคดีที่สายการบินอิมิเรตส์ส่งเมลมาคอนเฟิร์มสถานะการบินให้ฉันทราบเป็นระยะๆ ทำให้ฉันสบายใจได้มากขึ้นเยอะเลย

และโชคดีมาก ที่ฉันได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อนนักข่าวอาวุโส ที่เริ่มผูกมิตรกันที่นั่น เธอบอกข่าวฉันด้วยความห่วงใย ตรงไปตรงมา สไตล์นักข่าวอเมริกัน

นอกจากนี้ ยังมีน้องนักศึกษาไทยในซูดานคนหนึ่ง ที่ฉันบังเอิญได้รู้จักก่อนหน้าเดินทางไปซูดาน เธอได้คอยส่งข่าวและสอบถามฉันเป็นระยะๆ

บางที จังหวะที่ดี..มิตรใหม่ที่ดี..การตัดสินใจที่ดี…ก็แปรสภาพมาเป็น ‘โชค’ ในช่วงเวลาฉุกเฉินได้มากมายจริงๆ.

อ่านเรื่องการเดินทางผจญภัยในซูดาน ได้เพิ่มเติมที่:

การเดินทางสู่พีระมิดที่โลกลืม Meroë แห่งซูดาน

โรคระบาด กับการเดินทาง: วิธีเตรียมตัวและรับวัคซีน ข้อควรระวังเมื่อเดินทางไปประเทศเสี่ยง

Cross border: ไปครั้งเดียว เที่ยวได้มากกว่า 1 ประเทศ ไอเดียเที่ยวข้ามแดนวันหยุดยาว

ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore

Published by kate_wandermore

สาวผู้​หลง​รัก​การ​ผจญภัย​ ไต่เขา​ เข้า​ป่า​ เข้าหาผู้คน​พื้น​เมือง​ และ​ธรรมชาติ​ เคท​รัก​การ​อ่านและการเดินทางสำรวจ​ หลาย​ครั้ง​จึง​หยิบ​จับ​ข้อมูล​ต่าง ​ๆ มา​เล่า​ต่อ​ยอด​จาก​การ​เดินทาง​ เพื่อ​หวัง​สร้าง​แรงบันดาลใจ​แก่​เพื่อน​นัก​เดินทาง​ด้วย​กัน​ และ​หวัง​แสวงหา​ประสบการณ์​และเรียนรู้​จาก​การ​เดินทาง​แต่​ละ​ครั้ง​ให้​มาก​ขึ้น เคท​ชอบ​ลุย​เดี่ยว​ เพราะ​เธอ​ชอบ​ความ​คล่องตัว​เวลา​ตัดสินใจ​จะ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ และ​เธอ​คิดว่า​การ​เดินทาง​คน​เดียว​จะ​ช่วยเอื้อ​ให้​คน​ท้องถิ่น​กล้า​เข้า​หา​เธอ​มาก​ขึ้น​กว่า​เดิม​ รวมทั้ง​​เปิดโอกาส​ให้​เจอ​มิตรภาพ​ใหม่​ ๆ​ ที่​อาจ​ไม่​คาด​คิด​มา​ก่อน แม้ต้องโอบรับอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า เธอ​มีหัวใจเป็นนักสำรวจ และฝัน​จะ​ได้​สำรวจโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งทะเลทราย ขั้วโลก ปีนภูเขาน้ำแข็ง หรือ free diving ในสถานที่ที่งดงามราวกับเทพนิยาย แม้มีอันตรายรออยู่ก็ตาม.

One thought on “เล่าประสบการณ์ติดอยู่ในซูดาน 2 วัน ทำไมถึงกลับบ้านไม่ได้ ตอนเงินแทบไม่มีเหลือ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: