ความกระวนกระวายใจของฉันทวีขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สายตาจดจ่ออยู่ที่โทรศัพท์มือถือ และหน้าจอคอมพิวเตอร์ ฉันกำลังเตรียมตัวจะไปเที่ยวซูดาน แต่ดันไม่มีอีเมลตอบกลับจากทางซูดานมาสามวันแล้ว โทรไปต่างประเทศกี่เบอร์ที่เขาให้ไว้ก็ไม่มีสัญญาณ
Deadline ของการยื่นเอกสารวีซ่า คืบคลานเข้ามากดดันเรื่อยๆ เหมือนกลุ่มควันหนาๆ ที่ลอยตามฉันไปทุกที่ ทำให้อึดอัดและอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีสมาธิจะทำสิ่งอื่นใดได้
อีกไม่กี่วันฉันต้องรีบบินลงใต้กลับบ้านช่วงปีใหม่แล้ว ตั๋วในประเทศและต่างประเทศจองไว้เรียบร้อยหมดแล้ว แถมฉันยังต้องเดินทางไปประเทศอื่นอีกหลายประเทศก่อนไปเที่ยวซูดาน ในขณะที่วีซ่าซูดานก็ยังไม่ได้ยื่น เพราะขาดเพียงจดหมายเชิญจากฝั่งซูดานเพียงฉบับเดียวเท่านั้น!
…
หลังจากหายไปสามวัน ทางซูดานก็ติดต่อกลับมาหาฉันทางเมล เขาชื่อจอร์จ เป็นคุณตาชาวกรีกผมขาวโพลน เจ้าของโรงแรมท้องถิ่นในซูดาน จอร์จแนบจดหมายเชิญที่เขาออกและรับรองมาให้ ฉันดีใจจนแทบกระโดดตัวลอย
…
เมื่อมาถึงคาร์ทูม ฉันเข้าพักที่โรงแรม Acropole Hotel ของจอร์จ จริงๆ โรงแรมแห่งนี้บริหารโดยพี่น้องชาวกรีก เป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดของที่นี่ สร้างขึ้นเมื่อปี 1952 ตอนนี้เหลือเพียงทายาทรุ่นสุดท้ายคอยบริหารดูแล ด้วยความที่เป็นโรงแรมเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ความสันทัดในการให้บริการของจอร์จ ทำให้ที่นี่เป็นที่นิยมของนักถ่ายทำสารคดี นักข่าวจากช่องต่างๆ รวมทั้งนักโบราณคดี ไม่บ่อยนักที่จะเห็นนักท่องเที่ยวหลงเข้ามาเที่ยวซูดาน


จอร์จให้บริการฉันเป็นอย่างดี…เขาให้ฉันได้พักห้องติดระเบียง ซึ่งเป็นห้องใหญ่และวิวดีมากๆ
วันต่อมา จอร์จคอยดูแลจัดแจงรถพร้อมเสบียงให้ฉันได้ไปเที่ยวโบราณสถานตามจุดต่างๆ ของซูดานแบบ One Day Trip เป้าหมายสำคัญของวันนี้คือ พีระมิดแห่ง Meroë อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดานไปราว 230-270 กม.
“ถ้าระหว่างทางคุณหิว คุณหยิบอะไรกินได้เลย” จอร์จชี้ไปที่คูลเลอร์ขาวๆ ใหญ่ๆ ข้างเบาะที่ฉันนั่ง เขาเหมือนเป็นผู้ปกครองมาส่งลูกหลานไปโรงเรียน เขายืนอำลาฉันก่อนออกเดินทาง
“อ้อ..ผมเตรียมเสบียงไว้ให้เผื่อคนขับรถด้วยนะ”
สักพักก็หันไปกำชับคนขับรถถึงเส้นทางที่ต้องขับพาฉันไปวันนั้นด้วยภาษาอาหรับ

เมืองโบราณ มูเซาวรัต ระหว่างทางไปพีระมิดเมโรว์
ทริปนี้นอกจากเป็นทริปที่ฉันไปเพียงคนเดียวแล้ว ฉันไม่ได้จอยทัวร์กับใคร ฉันจึงเหมารถ 1 คันพร้อมคนขับไปแบบ One Day Trip ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยเซฟเงินให้ฉันได้มากกว่าการไปพักค้างคืนในทะเลทรายซูดาน
จอร์จเป็นคนรอบคอบและดูคล่องแคล่วมาก เขาไม่ลืมที่จะให้ไกด์บุ๊คกับฉันติดตัวไป 1 เล่ม เผื่อเอาไว้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานระหว่างทาง ซึ่งเป็นไกด์บุ๊คที่ทางโรงแรมรวบรวมขึ้นเอง พริ้นท์ลงกระดาษ A4 สีขาวง่ายๆ เคลือบปกไว้อย่างดี และเขายังไม่ลืมที่จะให้ฉันแลกเงิน USD แบงค์ย่อยไว้ เพื่อเอาไว้จ่ายค่าเข้าโบราณสถานต่างๆ ที่รัฐบาลคิดค่าเข้าไว้ซะสูงลิ่ว จนนักเดินทางงบน้อยอย่างฉันถึงกับปาดเหงื่อ (ค่าเข้าชม สถานที่ละ 20 ดอลล่าร์ หรือราว 600 บาท)
เส้นทางเที่ยวซูดานของฉัน วางไว้ดังนี้
Khartoum – Naqa – Musawwarat – Pyramid of Meroë


เมืองโบราณ มูเซาวรัต ระหว่างทางไปพีระมิดเมโรว์

ชาวบ้านขี่ล่อ ขนน้ำ ผ่านเมืองโบราณ มูเซาวรัต ระหว่างทางไปพีระมิดเมโรว์
….
พีระมิด แห่งเมือง Meroë ซูดาน
เมือง Meroë (เมโร) เป็นเมืองของอาณาจักรคุชโบราณ (Kingdom of Kush) ในสมัย 1000 ปีก่อนคริสตกาลหลังจากที่ราชวงศ์อียิปต์ลำดับที่ 24 ล่มสลายลง อาณาจักรคุชก็ผงาดขึ้นเรืองอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนกลาง ราชวงซ์คุชครองบัลลังก์ในอียิปต์ราชวงศ์แล้วราชวงศ์เล่า ในราว 712-657 ปีก่อนคริสตกาล

จากนั้น ก็มีการย้ายเมืองหลวงและสุสานของราชวงศ์มาอยู่ในแถบเมือง Meroë ในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ธรรมเนียมการสร้างพีระมิดจึงได้รับการส่งต่อกันมาใช้ในเมืองนี้ด้วย ดังนั้นพีระมิดที่นี่จึงเป็นพีระมิดน้องใหม่ที่สร้างหลังจากพีระมิดในอียิปต์ บ้างก็มีกล่าวว่า พีระมิดของเมือง Meroë สร้างหลังพีระมิดของอียิปต์ 800 ปี (Source: aljazeera)
จริงๆ แล้วพีระมิดของเมือง Meroë เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพีระมิดในซูดานที่มีมากถึง 200 กว่าแห่ง หากแต่พีระมิดของเมือง Meroë มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น
จึงมีหลายคนพูดว่า ที่ซูดานมีพีระมิดมากกว่าอียิปต์เสียอีก…

แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจหากได้มาเยือนที่นี่ คือฉันได้พบว่า พีระมิดหลายพีระมิด ท่อนบนมีสภาพพังทลายไม่เหลือซากด้วยน้ำมือคนโลภ ซึ่งเป็นโจรในคราบนักสำรวจ
โดยในศตวรรษที่ 19 มีนักสำรวจชาวอิตาลี ชื่อ Giuseppe Ferlini เคยมาระเบิดพีระมิด 40 พีระมิดของที่นี่ เพื่อหาทรัพย์สมบัติที่อยู่ด้านใน หนึ่งในนั้นคือพีระมิดที่เป็นสุสานของราชินี Amanishakheto ผู้เกรียงไกรของอาณาจักรคุช ผู้รั้งตำแหน่ง kandake of Kush (ซึ่งสันนิษฐานว่า สูงกว่าองค์ฟาโรห์ เพราะสามารถบังคับบัญชาฟาโรห์ได้)


พระนาง Amanishakheto ราชินีของอาณาจักรคุชโบราณ

สมบัติหนึ่งในชิ้นที่ถูกขโมยในพีระมิดของพระนาง Amanishakheto ราชินีนักรบของอาณาจักรคุชโบราณ
หลังจากนั้นนักโบราณคดีต้องพยายามอย่างหนักในการบูรณะโดยการโบกปูนสร้างโครงสร้างใหม่ประกอบกับซากเดิมที่หลงเหลืออยู่ของตัวพีระมิด ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้
ซูดานในปัจจุบัน
ซูดานในตอนนี้ค่อนข้างเงียบเหงา ยิ่งหลังจากเกิดสงครามการเมือง ทำให้ซูดานปกครองโดยเผด็จการทหาร ตามมาด้วยการถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ แถมยังมีข่าวโรคระบาดอีโบลาในแอฟริกา ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวหดหายลงจนเหลือแต่คนท้องถิ่นที่มาเที่ยวชมพีระมิดเท่านั้น
พีระมิดของเมือง Meroë จึงกลายเป็นพีระมิดที่ไร้นาม..ไร้การถูกพูดถึงในวงกว้าง ..ไร้การถูกพูดถึง และถูกลืมเลือนตามกาลเวลา

จากที่เคยรุ่งเรืองในอดีต…
มาถูกโจรปล้นสมบัติทำพังยับเยิน …
จนถึงยุคสมัยปัจจุบัน กลายเป็นพีระมิดที่ถูกทิ้งร้าง กลางทะเลทรายอันว่างเปล่า ไร้ซึ่งผู้คนสนใจ…
ในวูบหนึ่งที่ฉันยืนอยู่เบื้องหน้าพีระมิดเมโรว์ ลมทะเลทราย พัดพาเอากอหญ้าแห้งขนาดใหญ่ กลิ้งวนผ่านหน้าฉันไป
ฉันเชื่อว่านี่เป็นสัญญาณ การต้อนรับของทะเลทราย
ทะเลทรายมักจะตอบสนองการมาเยือนของคนต่างถิ่นเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตั้งใจสังเกตสัญญาณเหล่านั้นของทะเลทรายหรือเปล่า…

ภาพกลุ่มพีระมิด Meroe อันผุพัง ชวนให้รู้สึกอ้างว้างอย่างบอกไม่ถูก
แต่ฉันมองว่าเป็นเสน่ห์ของที่นี่
ความโดดเดี่ยวแต่ยิ่งใหญ่ตระการตา เหมือนราชินี อะมานี ชาเคโต หญิงสาวที่ลี้ลับ ยากที่จะเข้าถึง ไม่ได้โด่งดังเหมือนพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์
หญิงสาวชาวนูเบีย ผู้โอบกอดเสน่ห์ของการไร้นาม ไร้ชื่อเสียง แต่ทรงคุณค่าผ่านกาลเวลา.
…
อ่านเรื่องราวแบกเป้ลุยเดี่ยว เที่ยวซูดาน ดินแดนที่โลกลืม ต่อได้ที่:
Cross border: ไปครั้งเดียว เที่ยวได้มากกว่า 1 ประเทศ ไอเดียเที่ยวข้ามแดนวันหยุดยาว
โรคระบาด กับการเดินทาง: วิธีเตรียมตัวและรับวัคซีน ข้อควรระวังเมื่อเดินทางไปประเทศเสี่ยง
ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore
2 ความเห็นบน “เที่ยวซูดาน: การเดินทางสู่พีระมิดที่โลกลืมในซูดาน”