บนเส้นทางสายผจญภัย เรามักจะเห็นภาพของนักผจญภัยที่สามารถพิชิตภูเขา หรือเดินทางท่องเที่ยวแบบลุย ๆ อย่างสำเร็จลุล่วง
แต่ยังมี “คนเบื้องหลัง” ที่ทำให้ทุกการผจญภัยของเรา “ปลอดภัยมากขึ้น” และราบรื่นยิ่งกว่าเดิม พวกเขาคือไกด์สายลุยที่เป็นนักผจญภัยมืออาชีพ เป็นคนที่เราใกล้ชิดที่สุดบนเส้นทางนั้น เคทจึงอยากเขียนเล่าถึงเรื่องราวประทับใจจากฮีโร่ที่อาจถูกลืมเหล่านี้มาให้ได้อ่านกันนะ ^^
ชูปรี บุรุษเท้าเปล่า แห่งมาดาคาริปูระ
สองข้างทางในป่าชอุ่มเขียวขจี ชายวัยกลางคน ร่างเล็ก ผิวคล้ำ หน้ากรำแดดและฝ้า ก้มหน้าก้มตาเดินนำหน้าฉันไปบนทางที่บ้างเรียบลื่น บ้างขรุขระอย่างกระฉับกระเฉง เท้าของเขาเปลือยเปล่า บนหลังแบกเป้ที่มีรองเท้าเทรคกิ้งยี่ห้อหนึ่งห้อยโตงเตงอยู่ด้านข้าง
เป้และรองเท้าที่เขาสะพายอยู่ …เป็นของฉันเอง
เท้าเปล่าของเขา ไม่ได้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น … เดิมเขามีรองเท้าแตะคู่กายเก่า ๆ สีแดงชมพูใส่มาด้วย
หากแต่ตอนนี้รองเท้าแตะคู่นั้น ถูกฉันใส่แทนแล้ว…
ลุงชูปรีเป็นไกด์นำทางแห่งมาดาคาริปูระ น้ำตกที่ซ่อนอยู่ในผืนป่าอินโดนีเซีย เมื่อมองขึ้นไปจะเป็นเวิ้งเวหาคล้ายปากถ้ำที่มีน้ำไหลตกลงมาเบื้องล่าง การเข้ามาที่นี่จะต้องมีไกด์ผู้ชำนาญทางของอุทยานพาเข้าไป เพราะต้องเดินฝ่าน้ำตกตัวเปียกปอน และปีนข้ามโขดหินลื่น ๆ เป็นระยะทางพอประมาณ
เรื่องมันมีอยู่ว่า รองเท้าเทรคกิ้งของฉัน แม้จะยึดเกาะเป็นเลิศและกันน้ำ แต่ก็ไม่อาจทานทนต่อความลื่นของตะไคร่น้ำสีเขียว ๆ ในแถบนี้ได้ ฉันเดินเทรคตามลุงชูปรีเข้าไปหาน้ำตก ระหว่างทางที่รองเท้าเริ่มมีปัญหา ลุงชูปรีไม่รีรอที่จะให้ฉันถอดรองเท้านั้นออก แล้วใส่รองเท้าแตะของเขาแทน ส่วนเจ้าตัวก็เดินเท้าเปล่าไปโดยไม่คิดอะไร เป็นน้ำใจของชาวบ้านในชนบทที่ไม่มีอะไรเจือปน
ตลอดทางที่มาดาคาริปูระ ฉันเห็นน้ำใจของลุงชูปรีหลายครั้ง บางครั้งลุงชูปรีเดินนำหน้าเพื่อเคลียร์ทางให้ฉันเดินได้สะดวก น้ำใจนี้เทียบไม่ได้เลยกับเงินจำนวนเล็ก ๆ ที่เป็นค่านำทางของเขาในแต่ละวัน
คุณลุงเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันได้เห็นคุณค่าของวิชาชีพ ฉัน..ผู้มีชีวิตอยู่ในเมืองและเงินหลักร้อยดูเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย ลุงชูปรีทำให้เห็นว่า..ไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน ค่าแรงที่ได้จะน้อยนิดเพียงใด แต่ก็ต้องทำงานที่ตัวเองถนัดอย่างเต็มร้อย
หากใครมาเยือนมาดาคาริปูระหลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ภูเขาไฟโบรโม อย่าลืมถามหาลุงชูปรี ทาซานผู้เดินเท้าเปล่าของที่นี่ล่ะ
วีกัส ความห่วงใยในความเข้มงวดของผู้นำ
หากเอ่ยถึงวีกัสในบรรดานักเดินเขาที่อินเดีย หลายคนที่กลับมาจากทริปเดินเขา คงนึกภาพชายวัยสามสิบปลาย ๆ สีหน้าเคร่งขรึม ตัวสูงยาว ใส่แว่นตากันแดดมาดเท่ห์ วีกัสเป็นหัวหน้าแคมป์ในการเดินไต่เขาในทริป Kuari Pass ของฉัน ฉันเจอเขาครั้งแรกตอนเดินทางไปถึงเมืองโจชิมาช รัฐอุตตราขัณฑ์ อินเดีย ท่ามกลางความหนาวเหน็บ อุณหภูมิติดลบสิบกว่าองศา วีกัสเดินออกมาต้อนรับทุกคน
เขาทั้งต้อนรับ และ “ต้อน” พวกเราเข้าไปในเบสแคมป์ด้วยถ้อยคำที่เฉียบขาดและกระฉับกระเฉง
“รีบเข้าที่พักก่อน มีอะไรไว้ค่อยคุยกันด้านใน” เขาปรามบรรดานักไต่เขาที่กำลังยืนคุยและคุ้ยหากระเป๋าเป้ด้านนอกเบสแคมป์ … นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันสัมผัสได้ถึง “ความดุ” ของเขา


วีกัสเป็นอดีตหนุ่มวิศวกร ที่ลาออกมาทำอาชีพในฝันคือการได้เป็น Trek Leader ของการไต่เขา Trek Leader ต่างจากไกด์ เพราะเขาจะเป็นเสมือนหัวหน้าของพวกเราทุกคนที่เราต้องเชื่อฟังคำสั่ง
“หน้าที่ของผม คือพาพวกคุณขึ้นไปบนนั้น แล้วกลับลงมาอย่างปลอดภัย”
ทุกเช้าก่อนออกเดินทาง เขาจะตื่นก่อนใครเพื่อน แล้วฝ่าหิมะมาเยี่ยมพวกเราทีละเต้นท์พร้อมด้วยเครื่องวัดระดับออกซิเจนในร่างกาย ตอนค่ำเขาจะต้อนพวกเราเข้าเต้นท์ แล้ววัดระดับออกซิเจนอีก เขาเอามืออังหน้าผากของพวกเราและถามว่ามีไข้ไหม “ถ้าตกดึก พวกคุณรู้สึกว่ามีไข้ ให้มาเรียกผมได้เลย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
ฉันเองก็เคยโดนไล่กลับเต้นท์หลังวีกัสพบว่า ฉันแอบไปถ่ายภาพดาวข้างนอกกับเพื่อนร่วมเทรค บางคนโดนวีกัสดุเพราะมัวแต่คุยกันเหมือนเด็ก ไม่ยอมนอน
“เงียบเดี๋ยวนี้แล้วนอนซะ ผมจะไม่พูดซ้ำ!”
แต่ระยะเวลา 6 วันที่เราเดินเขาด้วยกัน ผ่านความยากลำบากและเส้นทางสุดหฤโหด ทำให้พวกเรากลับชอบวีกัสมาก เขามักปล่อยมุกตลกออกมาเรื่อย ๆ เขาเป็นคนฉลาด และแสดงความเป็นห่วงเป็นใยพวกเราออกมาในทุก ๆ การกระทำ
“ผมออกจากงานมาทำสิ่งที่ตัวเองรัก ผมเบื่อชีวิตออฟฟิศน่ะ ไม่ใช่แค่เทรคกิ้งหรอกนะ แต่ผมยังเล่นพารามอเตอร์ด้วย” วีกัสเล่าให้ฉันฟังตอนเรานั่งคุยกันบนยอดซัมมิท “ผมไปเทรคธารน้ำแข็งมา 5 ครั้งแล้ว สนุกดี แต่ได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้มันไม่สวยเหมือนแต่ก่อน…”
วันสุดท้าย การเดินทางของพวกเรา “ผิดแผน” เพราะเส้นทางที่อ้อมทำให้กินเวลาเราไปจนมืดค่ำ เราเดินกันถึง 12 ชม. ทุกคนมีไฟฉายหมด ยกเว้นฉันซึ่งไม่ได้เอาไฟฉายคาดศีรษะมา (หลังจากมันพังไปตั้งแต่การเทรคครั้งก่อน) ทางที่เดินมืดมิด และเต็มไปด้วยก้อนกรวดที่มีชาวบ้านเอามาโรยไว้ ยิ่งทำให้การเดินของพวกเรายากกว่าเดิมมาก
จนถึงจุดหนึ่ง .. วีกัสรีบเดินมาดักหน้าฉัน แล้วสวมไฟฉายของเขาให้ แล้วเจ้าตัวก็เดินลิ่วนำหน้าไปในความมืดมิดบนทางลาดชันที่น่าหวาดเสียว ทิ้งให้พวกเรายืนงงอยู่พักใหญ่
เพื่อนคนหนึ่งสบตากับฉัน… เราพยักหน้ากัน… ก่อนจะวิ่งตามเขาไปเพื่อสาดแสงไฟให้เขา …

การปกป้องและความอดทน จากอาลี
อาลี เป็นชายผิวเข้ม คนท้องถิ่นที่ใช้มอเตอร์ไซค์คอยรับ-ส่งนักท่องเที่ยวไปยังโบรโม ฉันเจออาลีใกล้ปากทางเข้าอุทยาน วันนั้นเขาใส่เสื้อมีฮู้ดดี้สีเขียวแปร้ด เราสื่อสารกันแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ฉันตัดสินใจซ้อนมอเตอร์ไซค์ของอาลีขึ้นไปดูจุดชมวิวโบรโมยามพระอาทิตย์ขึ้น เราไปกันตั้งแต่ตอนตีสี่ คนส่วนใหญ่ที่มากันเป็นหมู่คณะเลือกที่จะนั่งรถจี๊ปขึ้นไป ในยามฟ้ามืด ดวงดาวพร่างพราวเต็มฟ้า คงมีเพียงแสงไฟจากรถจี๊ปคอยนำทาง
การซ้อนมอเตอร์ไซค์ขึ้นที่ ๆ สูงชันแถบนั้นกลายเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวจนต้องกุมรถไว้ให้แน่น ดินร่วน ๆ สีดำทำให้บางจังหวะรถกระชากบ้าง เร่งเครื่องบ้าง จนฉันเกือบจะตกจากหลังมอเตอร์ไซค์หลายครั้ง
จากเช้า จรดเย็นที่ฉันจ้างอาลีให้พาไปยังจุดต่าง ๆ รวมทั้งน้ำตกมาดาคาริปูระ เราเริ่มสนิทกันมากขึ้นแม้มีอุปสรรคทางภาษา ตอนเย็น ฉันวานให้อาลีพาไปส่งยังจุดที่ฉันพอจะโบกรถไปเมืองบอนโดโวโซได้
จุดโบกรถที่ฉันไปถึง คือริมถนนดี ๆ นี่เอง มีรถบัสผ่านมาบ้างนาน ๆ ครั้ง ซึ่งอาลีจะคอยถามรถที่ผ่านไปมาเหล่านั้นว่าไปบอนโดโวโซหรือไม่
คันแล้ว..คันเล่า
ไม่มีวี่แววของรถบัสที่จะไปเมืองบอนโดโวโซผ่านมาเลยสักคัน…

ฉันกับอาลีนั่งริมฟุตบาทบนถนน รอรถด้วยสภาพมอมแมม ฉันรู้สึกเกรงใจอาลีที่ต้องมานั่งรอ จึงเอ่ยปากขอให้เขากลับไปก่อนได้
แต่อาลีไม่ยอมกลับ…
แถมยังยืนกรานที่จะอยู่รอส่งฉันจนกว่ารถจะมาถึง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาลียังคอยกันไม่ให้คนที่ดูมีพิรุธเข้าถึงตัวฉันอีกด้วย เขาเป็นหญิงชราที่ทำท่าจะมาขออะไรจากเรา พออาลีทำท่าปัดป่ายตอนหญิงชราคนนั้นมองมาที่ฉัน หญิงชราคนนั้นก็ดูโมโห แล้วเดินจากไป
เรารอรถกันนานเป็นชั่วโมง อาลียังอยู่ที่ตรงนั้นไม่ยอมไปไหน
จนกระทั่งฉันได้ขึ้นรถไปบอนโดโวโซ…
วายู คาราบาวแห่งเมืองชวา
พอเท้าของฉันเหยียบลงที่บอนโดโวโซ อินโดนีเซีย ฉันไม่รู้จักใครที่นั่นเลย และไม่รู้ด้วยว่าต้องไปพักที่ไหน ต้องไปหาไกด์ยังไง จะพักที่บอนโดโวโซดี หรือเสี่ยงไปพักที่คาวาห์อีเจี้ยนเลย? ฉันได้แต่แบกเป้และไต่ถามคนในท้องที่บริเวณท่ารถว่าพอจะรู้จักใครที่นำฉันไปภูเขาไฟคาวาห์อีเจี้ยนได้บ้าง?
ชาวบ้านเหล่านั้นมองหน้ากันแล้วพูดคุยในภาษาของพวกเขา จากนั้นมีคนยกหูโทรศัพท์ขึ้น
ไม่นาน… ก็มีชายผิวคล้ำ สวมเสื้อกล้ามสีขาว ไว้หนวด รวบผมไว้ด้านหลังเหมือนสมาชิกวงดนตรีเพื่อชีวิตขับมอเตอร์ไซค์มาจอดตรงหน้า
เขาชื่อ วายู ชายผู้ที่จะพาฉันไปหาที่พัก และแว้นท์มอเตอร์ไซค์ข้ามเมืองไปไต่ภูเขาไฟคาวาห์อีเจี้ยน
ฉันเลือกพักในบอนโดโวโซ คืนนั้นตอนห้าทุ่มตรง วายูขับมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ คันเดิมมารับฉัน เขามีหน้ากากกันก๊าซพิษมาให้ การซ้อนมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ ข้ามเมืองตอนกลางคืน ผ่านสองข้างทางที่มืดมิด อากาศเย็นชื้น และทางบางแห่งขรุขระเป็นเรื่องที่เมื่อยก้นมาก แถมมอเตอร์ไซค์คันร้ายยังมาป่วยเสียข้างทาง ซ่อมกันอยู่เกือบสามสิบนาที
สิ่งที่ฉันประทับใจคือความตรงต่อเวลาของวายู และการบริการที่ดีเยี่ยมเกินขอบเขตงานของตัวเอง แม้จะได้เงินเพียงหลักร้อย แลกกับการไปรับ-ส่ง + ต้องรอฉันในช่วงเวลาที่ฉันไปไต่เขาข้ามคืน แล้วพาฉันกลับบอนโดโวโซในเช้าวันรุ่งขึ้น
แถมวายูยังอาสาไปส่งฉันที่ท่ารถบัสในวันเดินทางกลับอีกด้วย
…..



จะเห็นได้ว่า การทำงานที่เสี่ยงอันตราย บางคนอาจมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพบริการ …เป็นอาชีพใช้แรงงาน แต่หากมองลึก ๆ แล้วเราจะพบทั้งความกล้า และจิตวิญญาณในวิชาชีพของพวกเขา อย่างที่เราอาจจะหาไม่ได้จากงานออฟฟิศสบาย ๆ ในเมืองเลยก็ได้
ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ
ถูกใจถูกใจ