ตี 4 ณ สถานีรถไฟในเมืองฮาริดวาร์ เมืองแห่งนักแสวงบุญ ฉันนั่งขดตัวมองพื้นอย่างเลื่อนลอย ภายใต้อุณหภูมิเลขตัวเดียวที่กำลังรีดรัดเอาความร้อนจากมวลร่างกายของฉันออกไปอย่างช้าๆ
ข้างๆ ฉันเป็นคุณยายที่นอนขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่มบนพื้นโดยไม่สนใจว่าใครจะมอง เหมือนกับคนไร้บ้านส่วนใหญ่ที่นี่ ที่นอนกันอยู่ทั่วชานชาลา เป็นภาพที่แฝงความเจ็บปวดไว้อย่างเงียบเร้น เป็นความทุกขเวทนาที่ฉันสัมผัสได้ ภายในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองของนักแสวงบุญแห่งนี้
ถัดไปอีกประมาณสี่ห้าก้าว ฤาษีนักบวชนั่งยองๆ ท่องภาษาอะไรที่ฉันไม่เข้าใจนักออกมาเสียงดังเป็นช่วงๆ บางช่วงที่เสียงนั้นเงียบหายไป ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่าเขาคงจะเหนื่อยหรือหนาวจนผล็อยหลับไปเสียก่อน
ฉันรอคอยอย่างใจเย็น จนกระทั่ง 6.30 น. ตามเวลานัดหมาย ฉันเดินออกไปตามหารถที่มีป้ายทะเบียนตามที่เสียงโทรศัพท์ปลายสายบอก
ที่นั่น ทำให้ฉันได้พบเพื่อนใหม่อีก 4 คน ผู้ที่จะร่วมเดินทางไปเบสแคมป์กับฉันด้วยกัน จากฮาริดวาร์ (Haridwar) ถึง โจชิมาช (Joshimath) ใช้เวลาเกือบ 7 ชม.
“ฉันมาคนเดียวค่ะ” ฉันพูดพลางยื่นมือออกไปทักทายเพื่อนใหม่ เป็นผู้ชายสามคน ผู้หญิงหนึ่งคน ทุกคนยิ้ม บางคนมีท่าทีเขินอายอย่างเห็นได้ชัด
“ไม่ต้องห่วง คุณมีเราอยู่แล้วนี่ไง” ชรูติ สาวมั่นหนึ่งเดียวในกลุ่มบอกฉันอย่างมีความหมาย
พวกเราเข้ากันได้ดีจนฉันไม่รู้สึกถึงความแตกต่างใดๆ ระหว่างเรา


Day 1: Basecamp ที่โจชิมาช
พอถึงเบสแคมป์ ทุกคนต้องยื่นผลตรวจร่างกาย พร้อมหลักฐานยืนยันว่าสามารถวิ่งได้ระยะทาง 5 กม. ในเวลา 8 นาทีต่อกม. หัวหน้าแคมป์ตรวจระดับออกซิเจนในเลือดของทุกคน ซึ่งจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งตลอดระยะเวลาห้าวันข้างหน้าที่เราต้องพบเจอ
หากใครมีระดับออกซิเจนต่ำกว่า 75 จะถูกส่งกลับเบสแคมป์ทันที เพื่อความปลอดภัยของนักไต่เขาเอง
และทุกคนจะต้องสำรวจอาการ AMS ของตนเองทุกเช้า พร้อมบันทึกลงในบัตรสุขภาพ รายงานต่อหัวหน้าแคมป์ทุกวัน
หากใครที่มีคะแนน AMS เกิน 5 อาจไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นซัมมิท
หัวหน้าแคมป์ หรือ Trek Leader จะทำหน้าที่เสมือนผู้คุมกฏ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในแคมป์ ในระหว่างเดินไต่เขา
“หน้าที่ของผม คือพาพวกคุณขึ้นไปถึงจุดหมาย แล้วกลับลงมาอย่างปลอดภัย”
วิกัส หัวหน้าแคมป์ผู้เคร่งครัดบอกกำชับพวกเรา เหมือนครูที่คอยเตือนนักเรียนของตัวเอง เขาดูดุ จริงจัง แต่ก็มีอารมณ์ขันในคนเดียวกัน วิกัสเป็นหนุ่มวัยทำงานที่ลาออกจากอาชีพวิศวกรที่ใครๆ ใฝ่ฝัน มาทำงานแนวโลดโผนที่ตัวเองรัก
นอกจากนี้ ในกลุ่มเรายังมี Trek Guide อีก 2 คน เป็นหัวหน้าไกด์หนึ่งคน และผู้ช่วยมากประสบการณ์อีก 1 คน วิกัสอวดพวกเราว่าทั้งสองคนเป็นคนท้องถิ่น จึงชำนาญพื้นที่มาก และสามารถนำทางพวกเราผ่าน Kuari Pass ได้แม้จะโดนปิดตาก็ตาม
ฉันพบเพื่อนคนอื่นๆ ผู้ร่วมกลุ่มที่เบสแคมป์ ทำให้รู้ว่าเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมมีทั้งหมด 25 คน (รวมฉันด้วย) ครึ่งหนึ่งเป็นวิศวกร ส่วนใหญ่ทำงานสายไอที และยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว การไต่เขาครั้งนี้ไม่มีลูกหาบ ทุกคนต้องรับผิดชอบในการแบกสัมภาระของตนเองตลอดการเดินทาง และยังต้องคาดถุง Eco bag ไว้ที่เอวเพื่อเก็บขยะรายทางที่เจอบนภูเขาอีกด้วย
Day 2: เดินขึ้นแคมป์ 1 เห็นวิวยอด Dronagiri
วันแรก เราเดินขึ้นไปยังแคมป์ 1 ซึ่งมีความชันสูง และเป็นการไต่ขึ้นตลอดทาง ทางเดินส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นดินสีน้ำตาล แค่เพียงวันแรกก็ตัดกำลังหลายๆ คนไปได้เยอะ บางคนถึงกับหยุดพักเป็นเวลานาน และยอมเดินรั้งท้ายเพื่อไม่ให้ฝืนขีดจำกัดของร่างกายตนเองมากเกินไป แต่การเดินแบบกลุ่มใหญ่ทำให้เราพักได้ไม่นาน ต้องรีบเดินให้ทันเพื่อนที่อยู่ข้างหน้า จุดพักหนึ่งเราจะมีเวลาเพียงหนึ่งนาทีในการพัก ฉันจึงมีโอกาสได้ถ่ายภาพน้อยมากระหว่างทาง ใช้เวลาเดินประมาณ 7 ชม.
เทือกเขาที่ใกล้ชิดเรามากที่สุดและเห็นจนคุ้นตาในเส้นทาง Kuari Pass คือโดรนากิริ (Dronagiri) ที่โผล่ยอดเด่นเป็นสง่า มาทักทายเราตลอดระยะทาง ความสูง 7,066 ม.เหนือระดับน้ำทะเล เป็นหนึ่งในยอดเขาสูงที่โอบล้อมยอดนันทาเทวีเอาไว้ เหมือนดาวล้อมเดือน ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Nanda Devi Sanctuary
เราเห็นยอดโดรนากิริตลอดทาง แต่ก็พร่ำบ่นถึงพระเอกอย่างยอดนันทาเทวี จนไม่รู้โดรนากิริจะน้อยใจไหมนะ
เราต่างเสาะแสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า
ทั้งๆ ที่โอกาสที่แวะเวียนมาหาในปัจจุบันก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่ากันสักเท่าไหร่เลย…
พอเราเริ่มเดินไปได้สักพัก เราจะเริ่มมีเพื่อนผู้เดินไต่เขาในระดับความเร็วใกล้เคียงกับเรา คือไม่อยู่ข้างหน้าเราหนึ่งก้าว ก็เดินตามหลังเรามาติดๆ ฉันเรียกเพื่อนกลุ่มนี้ว่า “เพื่อนเดิน” ซึ่งฉันจะได้สนิทกับพวกเขาไปโดยปริยาย เพราะเราต่างคอยเฝ้าระวัง ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเมื่อทางเริ่มอันตราย เราจะคอยเตือนอีกฝ่ายให้ไม่ให้เหยียบย่ำไปบนทางนั้น
เราจะบอกไม่ให้เขาพลาด ในสิ่งที่เราได้ก้าวพลาดมาแล้ว…
“เพื่อนเดิน” ของฉันเป็นสองหนุ่มที่นั่งรถมาเบสแคมป์กับฉันนั่นเอง

แคมป์ 1 ตั้งอยู่บนเนินเขา มีแคมป์เพื่อนบ้านจากทีมอื่นตั้งอยู่บนเนินด้านล่างลงไป เรามีเต๊นท์ห้องน้ำทั้งหมด 3 เต๊นท์ เป็นการขุดดินลึกลงไปเพื่อขับถ่ายแบบฝังกลบ ซึ่งในวันที่เราจากแคมป์นี้ไป ทางหัวหน้าแคมป์จะใช้ดินพิเศษฝังกลบลงไปอีกครั้งเพื่อให้ทุกอย่างย่อยสลาย
ลึกเข้าไปในป่า เราเริ่มสังเกตเห็นหิมะบนพื้นดิน อากาศที่นี่หนาวได้ใจ ฉันถูกจัดแจงให้นอนเต้นท์เดียวกับราเมีย เพื่อนใหม่ของฉัน พร้อมกับยาชวัน สามีของเธอ ทั้งคู่นิสัยดีและน่ารักมากๆ
ไม่คิดว่าในอีกไม่กี่วัน เราจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน
สนิทมากจนน้ำตารื้นเมื่อถึงเวลาต้องร่ำลาอีกฝ่ายเลยล่ะ

กิจวัตรการกินบนภูเขาของเรา ไม่ได้น้อยหน้าตอนอยู่บนดินเลย เริ่มจากทานชา Morning tea ในตอนเช้า ต่อด้วยอาหารเช้า อาหารกลางวัน พอตกเย็นจะเริ่มเรียกให้ไปทานซุป จบท้ายด้วยดินเนอร์มื้อค่ำ ซึ่งเป็นมื้อที่ทุกคนจะตุนน้ำร้อนหรือน้ำธรรมดาใส่กระบอกไว้ใช้เดินไต่เขาในวันถัดไป
ที่แคมป์ 1 ฉันเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร (ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของ AMS หรือโรคแพ้ความสูง) ในขณะที่เพื่อนใหม่บางคนมีอาการปวดหัว ฉันบอกยาชวันและราเมียว่าไม่อยากทานมื้อเย็น แต่พวกเขาไม่ยอมให้ฉันอดมื้อใดมื้อหนึ่งไปซะง่ายๆ เพราะอาหารแต่ละมื้อสำคัญมากต่อการปรับตัวเข้ากับความสูงและเป็นแหล่งพลังงานทางเดียวที่เรามี หลังจากคะยั้นคะยอฉันอยู่นาน ฉันก็สัญญาว่าจะเดินไปทานมื้อเย็นกับพวกเขาเมื่อหัวหน้าแคมป์เรียก
เรามีเวลาไม่มากก่อนจะถึงมื้อเย็น ฉันจึงทดสอบถุงนอนที่เราจะใช้ฝ่าความหนาวเหน็บในคืนนี้ รู้สึกเหมือนเป็นดักแด้ นอนไปได้สักพักก็ยังรู้สึกว่าหนาวอยู่ แม้คำโฆษณาที่ติดอยู่บนถุงนอนจะบอกกับเราว่า กันหนาวได้ถึงอุณหภูมิติดลบ 10 องศาก็ตาม


ช่วงเวลาของคืนนี้ผ่านไปอย่างยากเย็น ฉันได้ยินราเมียพลิกตัวอยู่บ่อยๆ
ราเมียเองก็คงได้ยินเสียงฉันนอนพลิกตัวไปมาทั้งคืนเหมือนกัน…
แต่ที่แย่กว่าการนอนขดอยู่ใต้ความหนาว ก็คือการปวดเข้าห้องน้ำตอนตีหนึ่ง อุปสรรคแรกคือเกรงใจเพื่อนร่วมเต๊นท์ กลัวเขาต้องตื่นขึ้นมากลางดึก อุปสรรคที่สองคือความมืด ที่ไฟฉายเจ้ากรรมของฉันดันถ่านหมด จนต้องหยิบยืมจากราเมีย อุปสรรคที่สามคือการค่อยๆ เปิดเต๊นท์ที่กำลังโต้แรงลม ควานหาและสวมรองเท้าเดินเขาที่เย็นเยียบอย่างทุลักทุเล เดินงัวเงียฝ่าความมืดและแรงลมที่เย็นจนหน้าชา ออกไปเต๊นท์ห้องน้ำที่อยู่ไกลจากเต็นท์เราประมาณ 5 นาที
ท่ามกลางความมืดและแสงจันทร์…ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย
มีเพียงแต่สัญชาตญาณที่จะนำพาไปหาห้องน้ำและกลับเต๊นท์อย่างเร่งด่วนเท่านั้น
พอถึงตอนนั้นเอง ฉันถึงได้ซาบซึ้งกับคำศัพท์คำว่า Nature’s Call อย่างแท้จริง T^T