เที่ยวแบบชนเผ่า เข้าถึงท้องถิ่น (1): ดำรงและดำดิ่ง กับวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ│Wander More

ในฐานะที่ชอบเที่ยวคลุกคลีกับคนท้องถิ่นแบบชนเผ่ามากๆ เลยเขียนรวบรวมข้อมูลสถานที่ที่เป็น bucket list เอาไว้ให้คนที่ชอบแนวการเดินทางเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนได้อ่านกัน โดยเคทจะขอรวบรวมเอาไว้เป็นตอนๆ นะคะ

ตอนแรกในบทความนี้ เป็นการคัดเลือกสถานที่ต่างๆ ของชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมา 6 ชนเผ่าด้วยกัน หากจะไปเที่ยวตามรอยบทความนี้ก็ไม่ยาก เพราะทุกที่ล้วนอยู่ในเอเชียค่ะ

“การได้เข้าถึงผู้คนท้องถิ่น ทำให้การเที่ยวไม่ใช่แค่การ ‘ไป’ แต่นับเป็นการ ‘ไปถึง’ อีกด้วย”

1.นักตกปลายืนเสา แห่งศรีลังกา

ตกปลาศรีลังกา เที่ยวศรีลังกา ท้องถิ่น ชาวประมง ยิปซีทะเล เที่ยวคนเดียว เที่ยวศรีลังกา
นักตกปลายืนเสา แห่งศรีลังกา กำลังตกปลาด้วยวิธีดั้งเดิมซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคข้าวยากหมากแพง — ภาพโดย Steve McCurry

ภาพชายชาวประมงโพกหัวด้วยผ้าขาวหม่นๆ เปลือยท่อนบน และห้อยตัวเองอยู่บนเสาไม้ริมฝั่งเพื่อตกปลา เป็นภาพที่สวยชวนแปลกตาและทำให้เคทรีบหาข้อมูลในทันที เป็นวิธีตกปลาของชาวประมงในแถบหนึ่งของศรีลังกา ซึ่งไม่ได้เป็นวิธีตกปลาที่เก่าแก่มากเท่าใดนัก เพราะหากนับย้อนหลังไปก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เองค่ะ ตอนนั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพง อาหารขาดแคลน คนแย่งชิงพื้นที่หาปลา จนเกิดคนหัวใสหาวิธีตกปลาในทะเลโดยไม่ต้องมีเรือของตัวเอง ตอนแรกๆ ก็เริ่มจากอาศัยซากเครื่องบินตกและเรือคว่ำ จากนั้นจึงพัฒนาเป็นการสร้างเสาไม้ขึ้นตามแหล่งปะการัง แถบเมือง Unawatuna และ Weligama ของศรีลังกา

ศรีลังหา ตกปลาศรีลังกา เที่ยวคนเดียว เที่ยว บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว สารคดี
คนลุงคนนี้เคยเป็นนักตกปลายืนเสา ปัจจุบันหาปลาไม่ได้แล้วเนื่องจากผลกระทบจากซึนามิ คุณลุงได้แต่รอให้นักท่องเที่ยวเข้าหาเพื่อพาไปโพสท่าถ่ายภาพตกปลาแทน — ภาพโดย Florian Muller
ปลา ศรีลังกา ประมง
อดีตนักตกปลายืนเสาบางคน ซื้อปลามาขายต่อในตลาดซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึก เพราะไม่สามารถหาปลาในน้ำตื้นได้อีกต่อไป — ภาพโดย florian muller

ปัจจุบัน หาปลาด้วยวิธีนี้เป็นเรื่องยาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากที่เคยเกิดซึนามิด้วย ทำให้ไม่ค่อยมีนักตกปลายืนเสาที่คิดจะหาปลาจริงจังด้วยวิธีนี้อีกต่อไป นอกจากจะถูกนักท่องเที่ยวจ้างเพื่อโพสท่าถ่ายภาพค่ะ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกัน แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่อความอยู่รอดหลังภัยซึนามิ

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถตามหาการตกปลาแบบยืนเสาได้ เพราะได้กลายเป็น ‘tourist trap’ ไปแล้วนั่นเอง

2.ยิปซีทะเล แห่งท้องทะเลอันดามัน

ชาวเลที่ได้ชื่อว่าเป็นยิปซีทะเล จริงๆ แล้วอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ตั้งแต่เกาะมะริดในพม่า ลงไปทางใต้ถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในไทยก็มีชาวมอแกนที่อาศัยบนหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงานี่เองค่ะ คาดว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวโปรเตมาเลย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในทะเลอันดามันมากว่า 100 ปี มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเลอย่างน่าทึ่ง คืออาศัยอยู่บนเรือที่เรียกว่า “ก่าบาง” ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของพวกเขาเลยก็ว่าได้ ส่วนหน้ามรสุมก็จะขึ้นมาอาศัยบนเกาะเพื่อหลบลมพายุ หากินกับทะเล เช่น หาปลา หอย และจับสัตว์ทะเลต่างๆ เป็นอาหาร ความสามารถในการดำน้ำแบบ free diving จึงเป็นเลิศ โดยใช้ชมวกแทงปลาเป็นเครื่องมือในการหาอาหาร ได้มาก็แบ่งไปแลกอาหารอื่นๆ กับคนบนฝั่งบ้าง เช่น ข้าวสาร น้ำปลา เป็นต้น

มอแกน ยิปซีทะเล เที่ยวทะเลไทย หมู่เกาะสุรินทร์ ดำน้ำ หาปลา เที่ยวคนเดียว เที่ยวใต้
ชาวมอแกน กับความสามารถในการดำน้ำหาปลาโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ดำน้ำใดๆ จนได้ชื่อว่า “เด็กชาวมอแกนแค่เกิดมาก็ว่ายน้ำได้แล้ว” — ภาพจาก ฟาตอนีออนไลน์
มอแกน เที่ยว ท้องถิ่น ชนเผ่า wandermore บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว
หมู่บ้านชาวมอแกน ภาพจาก Unseen Thailand
เรือก่าบาง มอแกน ยิปซีทะเล ทะเลไทย wandermore เที่ยวใต้ เที่ยวคนเดียว
เรือก่าบาง ของชาวมอแกน เรือที่เคยเป็นชีวิต เป็นทั้งบ้าน ที่เกิด ที่ตาย และเครื่องมือทำมาหากิน

นักมานุษยวิทยาสันนิษฐานไว้ว่า คำว่า “มอแกน” มาจาก “ละมอ” ที่แปลว่า “จม” และ “แกน” ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวราชินีในตำนานเก่าแก่ของชาวมอแกนว่า น้องสาวแย่งคนรักของพี่สาวผู้เป็นราชินีไป จึงโดนสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องประสบชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเลอย่างลำบาก

ปัจจุบัน กาลเวลาเปลี่ยนไป เมื่อทางการได้ประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นอุทยานแห่งชาติ สถานะของชาวมอแกนเลยกลายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย (จากเดิมที่เคยเป็นคนในพื้นที่) หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยออกทะเลแล้ว เพราะหันมาทำงานหารายได้จากการท่องเที่ยวและรับจ้างทั่วไปมากกว่าในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเดือน พ.ค.-พ.ย. ของทุกปี วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกนเริ่มเลือนหายไปเรื่อยๆ เป็นวิวัฒนาการที่เกิดจากการที่ชาวมอแกนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโลกภายนอกเยอะขึ้นค่ะ

3. ชายผู้จับปลา กับนกกาน้ำ ในกุ้ยหลิน ประเทศจีน

ชายชราชาวจีนสวมหมวกงอบ คลุมไหล่ด้วยเสื้อฟางกึ่งนั่งกึ่งยืนอยู่บนแพ พร้อมนกกาน้ำคู่ใจตัวสีดำ และแสงจากไฟตะเกียงอ่อนๆ บนหัวแพที่ลอยลำอยู่เอื่อยๆ ในแม่น้ำลี่ กุ้ยหลิน ประเทศจีน เป็นภาพที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากอดีต ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริงในปัจจุบัน

กุ้ยหลิน เที่ยวจีน เที่ยว เที่ยวคนเดียว จับปลา
ชาวประมงในกุ้ยหลิน ประเทศจีน กับนกกาน้ำ บนแพที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำลี่ –ภาพโดย Andy Beales / Barcroft Media —

วิธีจับปลาของชาวประมงกุ้ยหลิน เป็นวิธีการจับปลาที่เก่าแก่มานับพันปี ไม่มีเบ็ดตกปลา มีเพียงนกกาน้ำเชื่องๆ ที่ดำลงไปจับปลามาให้ โดยพวกเขาจะออกหาปลาในทะเลสาบทุกๆ เช้า ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม. น่าสงสารที่เจ้านกพวกนี้ถูกควบคุมโดยการใส่บ่วงไว้ที่คอเพื่อกันไม่ให้นกกลืนปลาตัวใหญ่ๆ แต่นกยังสามารถกินปลาตัวเล็กได้ตามปกติค่ะ และพวกมันถูกเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มันเป็นสัตว์เลี้ยงของชาวประมงมากกว่าแค่เครื่องมือในการจับปลา ชาวประมงที่นี่จะจับปลาในปริมาณที่พอเพียงแค่เลี้ยงคนในครอบครัวเท่านั้น

กุ้ยหลิน pinterest2
นอกจากในกุ้ยหลินแล้ว การจับปลาด้วยนกกาน้ำยังมีที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งนับเป็นวิธีจับปลาที่เก่าแก่นับพันปี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม — ภาพจาก Pinterest
กุ้ยหลิน เที่ยวคนเดียว เที่ยวจีน จีน ท่องเที่ยว บล็อกเกอร์
ชาวประมงในกุ้ยหลิน กำลังทำตาข่ายจับปลา –ภาพโดย Andy Beales / Barcroft Media —

4. บาเจา ชนผู้ดำน้ำได้ก่อนเดิน แห่งอินโดนีเซีย

พูดถึงยิปซีทะเลในบ้านเราไปแล้ว ชวนให้นึกถึงยิปซีทะเลอย่างบาเจาในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ที่ Wakatobi อินโดนีเซียมีชาวบาเจาดำรงชีวิตอยู่ในผืนทะเลมายาวนานกว่า 400 ปี!  ซึ่งเหมือนชาวมอแกนบ้านเรา ที่จะอาศัยอยู่ในเรือซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ก็อยู่บนบ้านไม้ที่สร้างไว้บนทะเล ชาวบาเจาสามารถดำน้ำได้นานถึงครั้งละห้านาที และดำลึกถึง 20 เมตรเชียวนะ

บาเจา by amazing stuff
วิถีทะเลของชาวบาเจา ภาพจาก Amazing Stuff
บาเจา bajau อินโดนีเซีย wandermore
ชาวบาเจาในอินโดนีเซียคนนี้ดูเชี่ยวชาญในการจับปลาหมึก — ภาพโดย james morgan
บาเจา
เด็กชาวบาเจา — ภาพโดย james morgan

5. ชาวอินธา กับท่าพายเรือขาเดียว ในทะเลสาบอินเล ประเทศพม่า

ทะเลสาบอินเล ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นทะเลสาบน้ำตื้นที่อยู่อาศัยของหมู่บ้านลอยน้ำของชาวอินธา ซึ่งเข้าถึงได้โดยการนั่งเรือไม้เท่านั้นนะคะ ไม่มีฟุตบาทหรือถนนเชื่อมใดๆ และไม่มีการใช้เรือยนตร์

ทะเลสาบที่นี่โด่งดังเรื่องวิธีหาปลาของชาวอินธาที่มีลีล่าท่าทางไม่ซ้ำใคร โดยการใช้ขาข้างหนึ่งพายเรือโดยมีแขนหนีบไม้พายไว้ และใช้ขาข้างเดียวอีกเช่นกันในการเกี่ยวสุ่มดักปลาขนาดใหญ่ เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าช่างภาพ และนักท่องเที่ยว ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและท่าพายแบบนี้ก็กลายเป็น Tourist trap ไปโดยปริยาย

อินธา อินเล พม่า
ชาวอินธา กับท่าพายเรือขาเดียวและสมดุลในการยืนจับปลาอันเลื่องชื่อ –ภาพโดย Kyaw Kyaw Winn

6. “ดูหลำ” วิชาฟังเสียงปลา แห่งพรานทะเลในคาบสมุทรมลายู

ในแถบชายฝั่งอ่าวไทย นับตั้งแต่จ.นครศรีธรรมราชไปจนถึงนราธิวาส เคยมีวิชาที่ชาวประมงพื้นบ้านสืบทอดกันเพื่อใช้ในการหาปลา เรียกว่าวิชา ‘ดูหลำ’ คือการฟังเสียงปลาค่ะ ใช่แล้ว…อ่านไม่ผิดหรอก มันคือการ ‘ฟังเสียงปลา’ ได้จริงๆ

วิธีการคือ ชาวประมงจะพายเรือออกเล (ออกทะเล) ไปยังแถบที่คาดว่าน่าจะมีปลา บ้างก็ว่าจะใช้พายจุ่มน้ำ แล้วแนบหูเพื่อฟังเสียงปลา บ้างก็ว่าจะดำน้ำลงไปใช้หูฟังเพื่อหาตำแหน่งของปลาเลย ซึ่งคนที่จะเป็นนักฟังเสียงปลาได้ต้องเป็นชาวเลที่ออกทะเลจับปลาเป็นประจำ คุ้นเคยกับดินฟ้าอากาศ ปัจจุบันนี้ คนที่ใช้ศาสตร์นี้ได้เหลือน้อยลงทุกทีค่ะ มีข้อมูลว่ายังหลงเหลืออยู่ในหมู่ชาวประมงแถบจังหวัดสงขลา และมาเลเซีย

หากสนใจที่จะเที่ยวเพื่อสัมผัสความสามารถพิเศษและลึกลับของผู้ใช้วิชานี้ ลองออกตามหาหมู่พรานทะเลในแถบสงขลาดูนะคะ

นักฟังเสียงปลา ดูหลำ เที่ยว สารคดี เที่ยวคนเดียว ผจญภัย wander more
นักฟังเสียงปลา ภาพจากไทย พีบีเอส
ดูหลำ by นิตยสารสารคดี
นักฟังเสียงปลา ดำน้ำเพื่อฟังหาตำแหน่งปลา บ้างก็ว่าสามารถแยกประเภทของปลาได้ รวมทั้งหาเรือจมได้ด้วย
ดูหลำ ปืนใหญ่โจรสลัด นักฟังเสียงปลา ทะเลใต้ เที่ยวคนเดียว สารคดี เที่ยวใต้
ภาพ: วิชาดูหลำ ของพรานทะเลแถบคาบสมุทรมลายู ถูกนำมาผูกกับจินตนาการให้มากกว่าแค่การฟังเสียงปลา แต่สามารถเรียกสัตว์ทะเลต่างๆ มาใช้งานได้ด้วย ในภาพยนตร์เรื่อง “ปืนใหญ่จอมสลัด”

บอกได้เลยว่า ทั้ง 6 ข้อนี้เป็นชาวท้องถิ่นที่เคทอยากออกเดินทางไปสัมผัสทุกที่เลยค่ะ คงต้องทยอยไปเที่ยวทีละแห่งๆ การได้สัมผัสและรู้จักผู้คนท้องถิ่นในแถบนั้น คงทำให้ได้อารมณ์แนวสารคดีที่มากกว่าแค่การไปเที่ยวเฉยๆ ดีนะ

ขอบคุณข้อมูลเสริมจาก: bp.or.th / Thai PBS/นิตยสารสารคดี/Manager.co.th/ wired.com/The Guardian/ aljazeera.com

Published by kate_wandermore

สาวผู้​หลง​รัก​การ​ผจญภัย​ ไต่เขา​ เข้า​ป่า​ เข้าหาผู้คน​พื้น​เมือง​ และ​ธรรมชาติ​ เคท​รัก​การ​อ่านและการเดินทางสำรวจ​ หลาย​ครั้ง​จึง​หยิบ​จับ​ข้อมูล​ต่าง ​ๆ มา​เล่า​ต่อ​ยอด​จาก​การ​เดินทาง​ เพื่อ​หวัง​สร้าง​แรงบันดาลใจ​แก่​เพื่อน​นัก​เดินทาง​ด้วย​กัน​ และ​หวัง​แสวงหา​ประสบการณ์​และเรียนรู้​จาก​การ​เดินทาง​แต่​ละ​ครั้ง​ให้​มาก​ขึ้น เคท​ชอบ​ลุย​เดี่ยว​ เพราะ​เธอ​ชอบ​ความ​คล่องตัว​เวลา​ตัดสินใจ​จะ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ และ​เธอ​คิดว่า​การ​เดินทาง​คน​เดียว​จะ​ช่วยเอื้อ​ให้​คน​ท้องถิ่น​กล้า​เข้า​หา​เธอ​มาก​ขึ้น​กว่า​เดิม​ รวมทั้ง​​เปิดโอกาส​ให้​เจอ​มิตรภาพ​ใหม่​ ๆ​ ที่​อาจ​ไม่​คาด​คิด​มา​ก่อน แม้ต้องโอบรับอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า เธอ​มีหัวใจเป็นนักสำรวจ และฝัน​จะ​ได้​สำรวจโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งทะเลทราย ขั้วโลก ปีนภูเขาน้ำแข็ง หรือ free diving ในสถานที่ที่งดงามราวกับเทพนิยาย แม้มีอันตรายรออยู่ก็ตาม.

One thought on “เที่ยวแบบชนเผ่า เข้าถึงท้องถิ่น (1): ดำรงและดำดิ่ง กับวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ│Wander More

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: