ฉันจงใจเดินทางมาเยือนปราสาทแห่งนี้ในช่วงเช้า หลังจากดูแสงแรกแห่งวันที่นครวัดจนเต็มอิ่ม ด้วยความหวังว่าจะเป็นกลุ่มนักเดินทางคนแรกๆ ที่มาถึงที่นี่ ก่อนที่จะมีฝูงชนมากมายแห่กันเข้ามาเยี่ยมชมความงามของปราสาทแห่งนี้ในตอนเที่ยง
ฉันชอบหลีกเลี่ยงที่ๆ มีผู้คนพลุกพล่าน
นครวัดในเวลากลางวันที่มีฝูงชนห้อมล้อมอยู่ทั่วไป มีทั้งนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มีทั้งพ่อค้าแม่ขาย เด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งมาขายโปสการ์ดหรือขอเงิน ที่นั่นจึงยังไม่ใช่สถานที่ในดวงใจของฉันนัก
ต่างกับที่นี่
ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีต เห็นจากรูปรอยลวดลายแกะสลัก รู้ได้เลยว่าคนสมัยก่อนมีความคราฟท์ ทำงานละเอียดและขยันขันแข็งเป็นที่สุด
ตาพรหมเป็นปราสาทที่ยังคงสภาพดีอยู่ แม้จะถูกรากไม้ขนาดใหญ่ห่อหุ้มไว้ราวกับจะกลืนกิน แต่ภาพรากไม้แห่งชีวิตนี่เอง ที่ทำให้ตาพรหมมีคนทั่วโลกจดจำได้
จากฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Tomb Raider (นำแสดงโดยแองเจลินา โจลี)
ตาพรหมถูกสร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบายน สมัยศตวรรษที่ 12 ตอนปลาย ในยุคทองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่ากันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ราชวงศ์ และยังใช้เป็นสถานศึกษาของพุทธศาสนานิกายหินยานอีกด้วย
(ภาพ: ธรรมศาลา สร้างไว้ในบริเวณปราสาท คาดว่าเป็นที่เรียนรู้พุทธศาสนานิกายหินยาน)
หลังศตวรรษที่ 17 ที่อาณาจักรขอมล่มสลาย ตาพรหมก็ถูกทิ้งลืมให้รกร้างกลางป่า ก่อนถูกค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 20
ใครจะไปรู้ว่า ในกาลก่อนปราสาทแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของคนเรือนหมื่น ในจำนวนนั้น มีพระสงฆ์ 18 รูป นักบวช 2740 คน ข้าทาสบริวาร 2232 คน และนางรำอีก 615 ชีวิต
ที่นี่ยังรู้จักกันดีในฐานะสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างเพื่อเป็นสุสานของพระราชมารดาอีกด้วย
ตามตำนานเล่าว่า สุสานของพระราชมารดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น รอบกำแพงประดับเพชรละลานตา…
ฉันรู้สึกว่า บรรยากาศของตาพรหมมีความคล้ายคลึงกับเบ็ง มีเลีย
อาจเหมือนกันตรงที่มีบรรยากาศ “ความดิบ” แบบฉบับปราสาทที่มีสภาพรกร้างกลางป่าก็เป็นได้.
………………………
อ่านเรื่องราวของเบ็งมีเลีย ปราสาทลึกลับกลางป่าเขมรได้ทางลิงค์นี้นะคะ: Beng Mealea: เสน่ห์ปราสาทลึกลับในป่าเขมร