พุทธศักราช 2562.
ไฟดับ..
ฉันหยุดเดินกึก หันหน้าไปหา ‘อูโก้’ เพื่อนร่วมทางชาวพม่า มองเขาแบบเก้ๆ กังๆ ราวกับอยากถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันยังเดินเข้าไปในวิหารได้หรือเปล่า
อูโก้พยักหน้าราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
“ที่นี่ไฟดับเป็นประจำ ไม่มีอะไรมากหรอก เราไปกันต่อเถอะ”
…
ฉันเจออูโก้ในตลาด หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่าย่าน City Center ในเมืองพุกาม ประเทศพม่า ตอนที่ฉันกำลังเดินหาร้านอาหารอย่างหิวโซ ภาพที่อูโก้เห็นคงเป็นผู้หญิงไทยผมเผ้ารุงรังคนหนึ่งที่เพิ่งสระผมมาหมาดๆ (แล้วไม่สนใจที่จะหวีผม) แต่งตัวเหมือนจะไปเดินป่ามากกว่ามาเที่ยวเล่นในเมืองโบราณ กำลังเดินตุปัดตุเป๋หาอะไรอยู่รายทาง
“ให้ผมช่วยไรมั้ย?”
ประโยคเกริ่นแค่ประโยคแรก นำพาให้เราได้เปิดเรื่องเดินทางด้วยกันในทริปนี้
อูโก้เป็นชายอายุสามสิบกว่าปี ผิวขาวเหมือนคนจีนต่างจากชาวพม่าคนอื่นๆ ที่ฉันเคยพบเจอ เขาเปิดร้านให้เช่ารถจักรยานและสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร้านเล็กๆ อยู่กลางตลาด ฉันสารภาพกับเขาเมื่อแรกเจอว่าฉันขับสกู๊ตเตอร์ไม่เป็นหรอกนะ และมีท่าทีว่าไม่อยากปั่นจักรยานในสภาพที่ไม่รู้ทิศรู้ทางเสียด้วย
อูโก้ตัดสินใจรวดเร็ว พร้อมยื่นนามบัตรให้ ทำให้รู้ว่าเขาเป็นไกด์อาชีพ เขาอาสาพาทัวร์ตามที่ต่างๆ ในพุกามด้วยค่าจ้างแค่สองร้อยบาท

…
พุทธศักราช 1587.
พระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งพุกาม สถาปนาราชวงศ์พุกามขึ้น แล้วรวบรวมเอาเมืองประเทศราชเล็กๆ มารวมกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองให้ผู้คน และนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนพุกาม เนื่องจากสมัยนั้นผู้คนต่างนับถือผีสางกันอย่างงมงาย

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัดและเจดีย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีธรรมเนียมว่า หากเป็นวัดและเจดีย์ที่กษัตริย์สร้างจะมีความใหญ่โต่โออ่า อลังการ ส่วนเจดีย์ของชนชั้นขุนนางจะมีขนาดลดหลั่นลงไป สันนิษฐานว่าเคยมีมากนับหมื่น ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ให้เห็นเพียง 2,200 องค์
[booking_product_helper shortname=”deal finder bagan”]
เกือบพันปีต่อมา..
คนไทยรู้จักพระเจ้าอโนรธามังช่อ ในพระนามว่า ‘อนุรุทธ’ ผู้เป็นหนึ่งในบรรดา 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพม่า อันได้แก่ พระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าบุเรงนอง และ พระเจ้าอลองพญา
…
อูโก้และฉันฝ่าฝูงชนที่สาดน้ำเล่นสงกรานต์กันตั้งแต่เช้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าวิ่งได้เงียบกริบ มีเซเป็นบางจุดที่ต้องวิ่งบนพื้นดินร่วนๆ และเต็มไปด้วยฝุ่นในเขต Old Bagan หรือเขตเมืองโบราณ บางจุดที่สุ่มเสี่ยงจะล้ม ฉันจะรีบลุกขึ้นก่อนเพื่อให้อูโก้ขับได้ง่ายขึ้น
วันต่อมา เขาพาฉันไปยังจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมีมากกว่าหนึ่งจุด แต่ก่อนทางการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปบนเจดีย์บางองค์เพื่อเก็บภาพ แต่หลังจากพุกามประสบแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2559 สร้างความเสียหายแก่เจดีย์ 400 กว่าแห่ง เพื่อความปลอดภัยทำให้ทางการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นเจดีย์อีกต่อไป

…
ฝุ่นแดงๆ จากดินยังคงตลบ เจดีย์แล้วเจดีย์เล่าที่เราขับผ่าน บ้างก็หยุดถ่ายภาพ ฉันแยกไม่ค่อยออกว่าเจดีย์ไหนชื่ออะไร แยกแยะได้แต่เพียงเจดีย์ที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นเห็นแล้วจำง่ายเท่านั้น เช่น วิหารธรรมยางจี ที่อลังการราวกับได้เจอพีระมิดแห่งอียิปต์ แต่มีประวัติอันน่าหวาดกลัวแฝงอยู่เบื้องหลัง วัดอนันดา (อานันทวิหาร) ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในพุกาม เจดีย์ชเวซันดอ วัดติโลมินโล เจดีย์ตะบินยูพญา เป็นต้น
ตะบินยูพญา เป็นวิหารที่สูงที่สุดในพุกาม ด้วยชื่อวิหารสัพพัญญู มีความหมายว่ามหาวิหารแห่งความรอบรู้

‘พุกามเป็นดินแดนสีอุ่นๆ’ ฉันคิดในใจ เพราะไม่ว่าจะส่องกล้องไปทางไหน ภาพที่ได้จะออกมาเป็นสีเหลืองอร่าม ราวกับพระอาทิตย์จะสถิตอยู่ในทุกๆ อณูของที่นี่
วิหารบางแห่งยังคงดึงดูดให้ฉันมาเยี่ยมอีกในวันถัดไป
คนส่วนใหญ่จะมาเที่ยวที่นี่เต็มที่แค่ 2 วัน ส่วนฉันมาถึง 6 วัน โดยไม่สนใจแวะเที่ยวทะเลสาบอินเลหรือมัณฑะเลย์เหมือนคนอื่น แต่หากใครมาที่นี่ จะรู้สึกเหมือนกันว่าอยากมาเก็บภาพอีกครั้งแล้วครั้งเล่าในสภาพแสงที่แตกต่างกันไป
วิหารบางแห่งจะดึงดูดให้เราเข้าไปค้นหา
ในขณะที่วิหารบางแห่ง หากได้รู้ที่มา ก็สร้างความครั่นคร้ามในจิตใจได้ไม่น้อย.
…
[booking_product_helper shortname=”bagan”]
ติดตามเรื่องเล่าตอนต่อไปของวิหารธรรมยางจีได้ที่: กรงกรรม ในธรรมยางจี: เบื้องหลังวิหารที่สร้างไม่เสร็จในพุกาม พม่า กับความงามชั้นครู
ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore