Mike Horn เป็นยอดนักผจญภัยและนักสำรวจร่วมสมัยชาวสวิส-เซาท์แอฟริกัน เป็นไอดอลของเหล่านักผจญภัยหลาย ๆ คน เพราะเขาได้ลุยเดี่ยวปฏิบัติภารกิจสำรวจอันเหลือเชื่อมานักต่อนัก เช่น
- การพิชิตทวีปอเมริกาใต้ หรือที่เขาเรียกว่าภารกิจ ‘อเมซอน’ เมื่อปี 1997 เป็นระยะเวลา 6 เดือน อาศัยเรี่ยวแรงของตัวเองล้วนๆ ทั้งว่ายน้ำ ปีนเขา ตั้งต้นจากมหาสมุทรแปซิฟิค (จุดเริ่มอยู่ที่ต้นน้ำของแม่น้ำอเมซอน บนเทือกเขาแอนเดส) ลุยว่ายลงแม่น้ำอเมซอนด้วยระยะทางถึง 7,000 กม.!! ด้วยแผ่นบอร์ด (เรียกวิธีนี้ว่า hydrospeed/riverboarding) จนถึงมหาสมุทรแอนแลนติค!
- ภารกิจ Latitude Zero (ละติจูดที่ 0 องศา) ในปี 1999 เดินทางรอบเส้นศูนย์สูตรโลก ระยะเวลา 18 เดือน ทั้งเดิน ปั่นจักรยาน และแล่นเรือใบ (สังเกตได้ว่า ภารกิจของเขาจะไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง หรือยานพาหนะที่ติดเครื่องยนต์ใด ๆ เลย)
- ภารกิจ Arktos เดินทางรอบ ‘Arctic Circle’ พิชิตขั้วโลกเหนือ ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี 3 เดือน (ไม่ใช้เครื่องยนต์ใด ๆ อีกแล้ว และลุยเดี่ยวด้วย!) ทั้งเดิน สกี พายคายัค และแล่นเรือ ระยะทาง 20,000 กม.!! เขาเริ่มจากนอร์ธเคปในนอร์เวย์ เดินทางผ่านกรีนแลนด์ แคนาดา อลาสกา ช่องแคบแบริ่ง และไซบีเรียในรัสเซีย
และหลากภารกิจอีกมากมายที่ควรค่าแก่การเล่าขาน จากรุ่นสู่รุ่น




ตอนนี้เคทกำลังอ่านหนังสือ ‘Conquering the Impossible’ ที่ Mike Horn เขียนเกี่ยวกับภารกิจ Arktos (หนังสือเล่มนี้ต้องสั่งมาจากต่างประเทศ หรือสั่งผ่าน Asia Book ก็ได้ค่ะ แต่อดทนรอนานหน่อยนะ เป็นเดือนเลยกว่าจะมาถึง) เลยอยากจะมาแชร์เรื่องราวน่ารัก ๆ ให้เพื่อน ๆ ที่ติดตามบล็อกอยู่ได้อ่านกัน เป็นเรื่องราวมิตรภาพระหว่าง Mike Horn และนักผจญภัยอีกหนึ่งท่านที่เปรียบเสมือนโค้ชของ Mike Horn ในภารกิจ Arktos นี้
เขาคือ Børge Ousland
นักเดินทางสำรวจชาวนอร์เวย์ผู้ได้รับการบันทึกว่า ‘เป็นบุรุษคนแรกที่เดินทางไปถึงขั้วโลกเหนือโดยลำพัง’ (แอบไปดูรูปมา เท่ห์มากกก) และยังเป็น ‘บุรุษคนแรกที่เดินทางลุยเดี่ยวพิชิตทวีปแอนตาร์กติกา’ อีกด้วย จึงเรียกได้ว่า พี่เขาเชี่ยวชาญขั้วโลกมากเลยทีเดียว

Mike Horn ถึงกับลงทุนบินไปหาเขาถึงนอร์เวย์ (พอดีเขามีสปอนเซอร์รายเดียวกันด้วยค่ะ) เพื่อเรียนรู้จากชายคนนี้ ทั้งวิถีชีวิต การฝึกฝน บุคลิกและทัศนคติของเขา
Mike Horn กล่าวถึง Børge Ousland ว่า ชายคนนี้ ‘very, very Zen’ มีความสุขุมคัมภีรภาพเหมือนผู้นับถือนิกายเซน
‘เขาเปรียบเหมือนสัตว์เลือดเย็นที่สามารถกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในยามขาดแคลนได้ จนมีบางครั้งผมรู้สึกว่า หัวใจเขาน่าจะเต้นช้ามากจริง ๆ เหมือนพวกปรมาจารย์ดำน้ำตัวเปล่าที่กลั้นหายใจได้ทีละนานๆ ยังไงอย่างงั้น’

ซึ่ง Børgeได้สอนไมค์ในเรื่องต่าง ๆ ดังเช่น
1) รองเท้า คู่หูคู่ตาย
ก่อนการเดินทางของไมค์ Børge Ousland เองก็บินมาหาเขาถึงบ้านเช่นกัน เพื่อช่วยดูเรื่องการเตรียมตัวและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น Børge ถึงกับเอารองเท้าบู๊ธคู่ที่เขาใส่พิชิตขั้วโลกเหนือมาให้ Mike
‘เป็นรองเท้ารุ่นเดียวกับที่นักสำรวจชาวนอร์เวย์ Fridtjof Nansen ใส่ตอนที่เขาออกสำรวจธารน้ำแข็งขั้วโลก’ ไมค์กล่าว
ทำไมรองเท้าที่จะใส่ไปขั้วโลกจึงพิเศษน่ะเหรอ Børge บอกไมค์ว่า “ฉันหวังจะเห็นนายกลับมาพร้อมนิ้วเท้าแบบยังอยู่ครบน่ะเพื่อน!”
ซึ่งปกติรองเท้าที่ใส่ไปพิชิตขั้วโลก ถูกออกแบบมาให้ใหญ่กว่าเท้าจริงเยอะมาก (ทำให้ยืมใส่กันได้) เพราะผู้ใส่ต้องห่อเท้าด้วยเลเยอร์อีกหลายชั้น ก่อนสวมรองเท้าจริงนั่นเอง

2) กฏของอาภรณ์กันหนาว ที่สู้กับอากาศหนาวระดับขั้วโลก!
กฏของการสวมใส่เสื้อผ้ากันหนาว เพื่อออกท้าดวลอุณหภูมิติดลบกว่า -40 องศานั้น “ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ทำให้คุณคลายหนาวหรอก แต่เป็นอากาศอุ่น ๆ ที่หมุนเวียนระหว่างชั้นของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ต่างหากล่ะ ที่ช่วยกันหนาว”
ถ้าพูดให้ง่ายก็คือ “ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ทำให้เราอุ่น แต่เป็นร่างกายของเราที่อุ่นเสื้อผ้า”
(ข้อนี้เคทเจอมากับตัวตอนไปเทรคที่อินเดียตอนเหนือ ในคืนที่ต้องนอนหนาวเหน็บซุกกายอยู่ใต้ถุงนอนราวกับดักแด้บนพื้นน้ำแข็ง เคทสังเกตว่าร่างกายปล่อยไออุ่นออกมาปะทะถุงนอน และเสื้อผ้า ราวกับว่ามีฮีทเตอร์เล็กๆ แบบพกพาอยู่ในร่างกายของเราด้วย)
ดังนั้น กฏเหล็กคือ ‘อย่าใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือเข้ารูปมากเกินไป จนไม่มีพื้นที่ระหว่างชั้นผ้า’ ควรเลือกเสื้อผ้าที่หลวมแบบพอดี มีที่ว่างให้อากาศจากร่างกายไหลเวียนได้
อีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนที่ไมค์โชว์ถุงมือของเขาให้ Børge ดู Børge ถึงกับหยิบคัตเตอร์มาตัดสายรัดข้อมือของถุงมือออก เขาบอกว่า ไม่ควรให้อะไรมากีดขวางระบบหมุนเวียนโลหิตของเรา โดยเฉพาะถุงมือ (อันนี้เคทก็เพิ่งรู้แฮะ ปกติเวลาเราเลือกถุงมือจะเลือกที่สวมได้ถนัด บางทีก็ลืมสังเกตไปว่ารัดข้อมือมากไปไหม)
Børge บอกว่าถุงมือควรหลวมแต่พอดี ประหนึ่งรถที่เข้าจอดในโรงรถได้พอดี ไม่เช่นนั้นหากระบบหมุนเวียนโลหิตถูกกีดขวาง นิ้วมืออาจแข็งได้

3) กางเต๊นท์ให้ได้ใน 20 วินาที!
ใช่แล้ว เพราะ Børge บอกว่า หากเรากางเต๊นท์ที่ขั้วโลก ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบกว่า -40 องศาไม่ได้ภายใน 20 วินาทีแล้วล่ะก็ “นานกว่านั้น คุณก็ตายได้เลย” ไมค์เลยต้องฝึกกางเต๊นท์ให้ได้ในเวลา 20 วินาที ซึ่งก็ช่วยเขาได้มากในสถานการณ์จริง เพราะที่ขั้วโลกมีกระแสลมแรง พายุหิมะ และไร้ที่กำบังใด ๆ ทุกอย่างขาวโพลนไปหมด ดังภาพ


4) อย่านอนในถุงนอน โดยไม่ได้ใส่ซับในถุงนอน
Børge บอกว่า ซับในถุงนอน หรือไลเนอร์ จะช่วยซึมซับเอาเหงื่อ และลมหายใจออกของเราตลอดคืน ไม่ให้โดนถุงนอนโดยตรง เพราะในอุณหภูมิติดลบ หากไม่มีซับใน เราอาจตื่นมาเหมือนนอนอยู่ในตู้แช่แข็งที่เราสร้างไว้เองระหว่างคืนก็ได้ (อันนี้จริง เพราะตอนที่เคทเคยนอนกลางพื้นหิมะ ตื่นมาแล้วสิ่งของรอบตัวเป็นน้ำแข็งหมด รวมทั้งทิชชู่เปียกด้วย ลองนึกภาพเหงื่อและลมหายใจของเราตอนกลางคืน จับตัวเป็นน้ำแข็ง สะสมกันไว้แบบนี้เกิน 40 วันดูสิ ไม่อยากคิดเลยว่าจะนอนหนาวขนาดไหน)

5) ไม้สกีที่ทนทาน ไม่แตกหักง่าย ๆ
การเดินทางข้ามขั้วโลก ต้องใช้ไม้สกีในการพยุงตัว อุปกรณ์สำคัญอย่างไม้สกีจึงต้องทนทานเป็นพิเศษ และต้องมั่นใจว่าเป็นไม้สกีที่ไม่มีวันหักได้ง่าย ๆ Børge มอบไม้สกีของเขาให้ไมค์ ยิ่งทำให้ไมค์มั่นใจเข้าไปอีก เพราะชายคนนี้ได้ใช้เวลาทั้งชีวิตในการพัฒนาอุปกรณ์ของเขาให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของขั้วโลก จนไมค์บรรยายไว้ในหนังสือว่า เขารู้สึกเหมือน Børge เป็นซานต้าคลอสที่บินมาจากตอนเหนืออันไกลโพ้น เอาของขวัญมามอบให้ก่อนที่เขาจะออกเดินทาง
เป็นแง่มุมเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่จากการอ่านหนังสือไปบางตอน ทำให้ได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วเบื้องหลังภารกิจผจญภัยพิชิตอะไรสักอย่าง มักจะมีบุคคลและการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเสมอ
Børge บอกไมค์ว่า “ผมอยากเห็นคุณเป็นอีกคนที่สามารถพิชิตขั้วโลกเหนือเพียงลำพังได้”
การสนับสนุนจากนักผจญภัยด้วยกัน อ่านแล้วให้ความรู้สึกอิ่มเอมในหัวใจจริง ๆ 🙂
…
อ่านเรื่องราวการผจญภัยสุดหินอื่น ๆ ได้ที่: https://wandermoredotnet.wordpress.com/category/mountaineering/
เปิดวาร์ป
ติดตาม Mike Horn ได้ที่ https://www.facebook.com/PangaeaMikeHorn
https://www.instagram.com/mikehornexplorer/
ติดตาม Børge Ousland ได้ที่ https://www.instagram.com/borgeousland/
ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore