หากใครที่ติดตามเคทมาตั้งแต่สองปีก่อน คงได้ยืนเคทบ่น ๆ เรื่องทริปล่มก่อนวันออกเดินทาง บ้างก็ผิดแผนในวันออกเดินทางมาหลายครั้ง แต่หากใครเป็นเพื่อนเคทจะรู้ว่า ชีวิตจริงนี่คือทริปล่มบ่อยกว่าที่เปิดเผยไว้ในเพจอีกนะ หลายทริปโชคดีที่ยังไม่จองตั๋ว
บางทริปโชคไม่ดีที่จองทุกอย่างไว้หมดแล้ว
หนักเข้าต้องยอมทิ้งตั๋วราคาเป็นหมื่นเลยก็มี
และนี่คือเรื่องราวการทริปล่มที่อยากแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน และวิธีรับมืออย่างไรให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสแก่เรามากที่สุด
#เจ้าแห่งทริปล่ม ดวงคนจะไม่ได้เดินทาง ก็ไม่ได้เดินทาง
ทริปล่มในแบบฉบับของเคท มักเกิดจากเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
บางทีก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ไปเลย
เพราะเป็นนักเดินทางสายธรรมชาติ และชอบเที่ยวสถานที่ที่ไปลำบากหน่อย
- ภูเขาไฟระเบิดในรอบ 50 ปี: เป็นทริปที่เคทจองตั๋วไว้เรียบร้อยว่าจะไปเดินเขา ภูเขาไฟรินจานี ราชินีแห่งเกาะลอมบอก อินโดนีเซีย ซึ่งควีนรินจานีก็ดันอยู่ในแถบวงแหวนแห่งไฟ หรือที่เรียกกันว่า Pacific Ring of Fire อันเป็นแนวภูเขาไฟ ทำให้ตอนก่อนออกเดินทาง มีข่าวที่น่าระทึกว่าภูเขาไฟ Agung ของเกาะบาหลีที่อยู่ใกล้กันกำลังจะระเบิด และอาจเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี (ช่วงปี 2017 เป็นปีที่ Pacific Ring of Fire เดือดมาก มีแต่ข่าวแผ่นดินไหวจากประเทศที่อยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟนี้)
- การระเบิดของภูเขาไฟอากุงจะส่งผลหลายอย่าง เพราะภูเขาไฟไม่ได้ปะทุแค่หนึ่งวันแล้วหายไป บางแห่งปะทุนานเป็นปี เครื่องบินบินไม่ได้ เพราะเขม่าควัน ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของการรอภูเขาไฟระเบิด เพื่อความปลอดภัย เคทเลยต้องยกเลิกการเดินทางไปรินจานีด้วย

- แผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามิก่อนเดินทางสองวัน: ทริปนี้คือเพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เคทแพลนและจองตั๋วเดินทางและที่พัก รวมทั้งวางแผนเดินทางไปดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ที่เกาะกิลี, อินโดนีเซีย และเล่น Surf ต่อที่ลอมบอก อันเป็นเกาะที่อยู่ใกล้กับกิลี (การไปกิลี ต้องนั่งเครื่องไปลงที่ลอมบอก แล้วต่อเรือ)
ปรากฏว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ลอมบอก คนตายวันเดียวแปดสิบกว่าคน และมีแจ้งเตือนภัยสึนามิด้วย เคทได้ถามข่าวจากคนแปลกหน้าที่อยู่กิลีผ่านทางไอจีกว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ข้อมูลที่ได้คือมีแต่คนรอหนี รออพยพออกจากเกาะ เลยต้องยกเลิกการไปที่นี่โดยปริยาย

- หิมะถล่มปิดถนน: ตอนไปลาดักห์เป็นครั้งที่สองที่อินเดีย ทุกอย่างดูผิดแผนไปหมด วันแรกเกิดการประท้วงที่กลางตลาดในเมือง ทำให้ออกไปเดินเล่นในตลาดไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ค่อยส่งผลอะไรมากนัก นอกจากหาอาหารกินลำบากหน่อย ต้องอาศัยกินแต่แกงถั่วในที่พัก
แต่วันถัดมา แพลนไว้กับทางไกด์ว่าจะไปทะเลสาบ แต่ดันโดนหิมะถล่มมาปิดทาง การเคลียร์ถนนเป็นไปได้อย่างช้า ๆ บางทีอาจใช้เวลาสามสี่วัน และไม่ปลอดภัยที่จะเดินทางไป (ใครไปลาดักห์คงทราบดีกว่าถนนที่นั่นอันตราย เสี่ยงทั้งหินและหิมะถล่ม รวมทั้งแคบและสูงขนาดไหน) ทริปนี้เลยต้องยกเลิก
- ข่าวก่อการร้าย: ที่ ๆ เคทอยากไปส่วนใหญ่มักจะเจอข่าวแบบนี้ ข่าวก่อการร้ายบ้าง สงครามกลางเมืองบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่กำลังแพลนไปอียิปต์อยู่นั้น วันถัดมาก็มีข่าวก่อการร้ายและน่าสลดเกิดขึ้นในมัสยิดในอียิปต์ ทำให้ยิ่งหาข่าวมากขึ้นเพื่อความชัวร์ว่ายังควรไปหรือเปล่า มีหลายเสียงบอกว่าทะเลทรายที่นั่นกำลังร้อนระอุด้วยภัยก่อการร้าย อย่าเพิ่งไปตอนนั้นจะดีกว่า
อีกที่นึงคือ อยากไปดำน้ำและส่องวิถีชีวิตของชาวบาเจาแถวมาเล พอหาข้อมูลตอนกำลังวางแผนการเดินทางก็เจอแต่ข่าวก่อการร้ายที่มีนักท่องเที่ยวเป็นเป้าหมาย บางรายถูกฆาตกรรมใน dive resort พอคิดในใจว่าเราไปคนเดียวด้วย ทริปนั้นเลยขอบาย

- ข่าวความตึงเครียดทางการเมืองโลก: เคยไหมที่แพลนๆ การเดินทางอยู่ว่าจะไปเดินเขาตรงชายแดนจีนติดเกาหลีเหนือ แล้ววันเดียวกันก็มีข่าวความตึงเครียดที่เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธ (อีกแล้ว) และทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ไม่พอใจ แล้วก็นั่งมองแผนการเดินทางของตัวเอง สลับกับดูข่าวอยู่หลายวัน จนสุดท้ายก็คิดว่า “ทริปนี้ไว้ก่อนละกันเนอะ”
- ส่วนอีกหลายประเทศที่อยากไปก็มีข่าวสงครามกลางเมือง เป็นพื้นที่สีแดงอยู่ โชคดีที่รู้ข้อมูลระหว่างตอนแพลนการเดินทาง ไม่อยากงั้นคงต้องเสียค่าตั๋วไปฟรี ๆ แน่
[booking_product_helper shortname=”freedive inspire”]
รับมือกับความผิดแผนนี้ยังไงดี
เชื่อว่าในชีวิตจริง คงไม่มีใครคิดถึง Plan B หรือแผนสำรองไว้ล่วงหน้า เพราะการเดินทางและที่ๆ เราอยากไป มักจะเป็นแผนเดียวในใจของเรากันทั้งนั้น พอเกิดผิดแผน เรามักจะถูกสถานการณบังคับให้รีดเร้นคิด Plan B ขึ้นมาให้เราเจ็บตัวน้อยที่สุด หรือต้องยอมเสียอะไรไปเพื่อให้เรายังปลอดภัยดีอยู่
1.ปรึกษาสายการบิน เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม:
หากการเดินทางผิดแผนในลักษณะเหตุสุดวิสัยนี้ ควรปรึกษาทางสายการบิน โทรเข้าคอลเซนเตอร์ได้เลยนะ เพราะโดยปกติหากเราซื้อตั๋วแบบโลว์คอส ตัวเลือกเราอาจมีไม่มาก แต่ก็ขอได้ เคทเคยทำมาแล้วและได้ผล เพราะในภาวะแบบนี้ทางสายการบินจะมีแผนสำรองไว้คอยช่วยเหลือเรา ตัวอย่างเช่น
1.1 เปลี่ยนจุดหมายปลายทางให้: แผนนี้เคทเลือกมาแล้ว ตอนทริปอินโดล่ม ก็เลือกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางใหม่ ซึ่งตอนนั้นคิดไม่ออกว่าจะไปไหนดีโดยที่ 1) ได้ดำน้ำด้วย 2) เป็น best season ของที่นั่นด้วย 3) ราคาต้องไม่แพงมาก 4) เหมาะกับการไประยะสั้น ๆ โดยไม่เพิ่มวันลา
ปรากฏว่าหวยมาออกที่มัลดีฟส์ ซึ่งขอบคุณตัวเองมาก ๆ ที่ตัดสินใจอย่างนั้น เพราะทริปมัลดีฟส์มันดีงามมากมายจริงๆ

สิ่งที่สายการบินทำ คือเขาจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางให้เราไปประเทศอื่น หรือเมืองอื่น รวมทั้งเปลี่ยนวันเวลาของเที่ยวบินให้ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยน (ซึ่งปกติค่าธรรมเนียมการเปลี่ยน ราคาจะเท่ากับครึ่งนึงของการจองตั๋วใหม่)
***หากเป็นรูปแบบนี้ให้จองและชำระผ่านคอลเซนเตอร์ได้เลย ไม่ต้องไปที่ Sales Office นะ เพราะที่ Sales Office จะเปลี่ยนตั๋วรูปแบบฉุกเฉินให้ไม่ได้***
1.2 เปลี่ยนวันเวลาเดินทางไปยังจุดหมายเดิมให้ โดยสามารถเลื่อนวันเวลาเดินทางออกไปได้ แต่ต้องเดินทางภายในระยะเวลาที่สายการบินกำหนด เช่น 14 วัน: อันนี้ข้อเสียคือ เราต้องมานั่งดูช่วงเวลาการเดินทางใหม่ ดูวันลาใหม่ และอาจไม่ตรงกับ best season ของที่ๆ เราจะไปแล้วก็ได้
ที่สำคัญหากเกี่ยวกับกรณีภัยธรรมชาติ ในระยะเวลา 14 วันก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ณ ตอนนั้นเหตุการณ์ทุกอย่างจะปลอดภัยแล้ว หรือเหมาะกับการท่องเที่ยว
1.3 ยกเลิกการเดินทางให้ โดยไม่คืนเป็นเงินสด แต่เก็บเป็นแต้มเครดิตไว้ในระบบ และต้องเดินทางภายใน 90 วัน: อันนี้ข้อเสียเหมือน 1.2 แต่บางคนอาจจะสะดวกที่จะยกเลิกการเดินทางไปก่อน ส่วนเคทมองว่าการยกเลิกการเดินทางไปเลย ทั้ง ๆ ที่เราอยากไป ณ ตอนนั้น ทำให้เราเกิดความจิตตก นอยด์ อยู่ลึก ๆ ที่ไม่ได้ออกเดินทางแล้ว

2.ประกันการเดินทาง ช่วยได้เยอะ
เคทมักทำประกันการเดินทางไว้ที่ครอบคลุมการถูกยกเลิกการเดินทาง การโจรกรรม และกีฬาเอ็กซ์ตรีม และจะทำไว้ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น จะช่วยเราได้อีกทางหนึ่ง
ข้อเสียคือ ความคุ้มครองจะอยู่ขอบเขตเฉพาะระยะเวลาเดินทาง แต่ไม่คุ้มครอง “ก่อนออกเดินทาง” อันนี้ต้องอ่านและทำความเข้าใจประกันการเดินทางแต่ละเจ้าให้ดี ๆ ก่อนซื้อ
3.ปรึกษาคนท้องถิ่น ปรับแผนเที่ยวใหม่ ไฉไลกว่าเดิม
ขอคำแนะนำจากคนท้องถิ่นในกรณีที่ทริปนั้นล่มตอนเราไปถึงที่นั่นแล้ว เพื่อให้เขาแนะนำที่เที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจให้เรา เช่น ตอนหิมะถล่มปิดถนนเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นถนนสายหลัก เคทเลยขอคำแนะนำจากคนท้องถิ่นหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเกสเฮ้าส์ ไกด์ หรือคนในตลาด ทุกคนจะให้คำแนะนำที่เที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าไปในมุมมองของคนท้องถิ่น ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเลือกมีหลากหลาย และเราไม่ได้อับจนหนทาง
จนในที่สุด เคทก็เปลี่ยนแผนไปเที่ยวลามายูรู ดินแดนพระจันทร์ในลาดักห์แทนการไปทะเลสาบ ซึ่งลามายูรูกลายเป็นที่ที่เคทชอบมาก ชอบกว่าการไปทะเลสาบที่เป็นภาพขาย (tourist landmark) ของที่นั่นเสียอีก

…
จะเห็นได้ว่า วิธีที่ทำให้เราไม่นอยด์ก็คือ เปลี่ยนแผน แต่อย่าล้มเลิกแผน เพราะหากเราล้มเลิกไป จะยิ่งทำให้รู้สึกนอยด์ และผิดหวัง
พยายามมองหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเอง และก็เที่ยวให้สนุก อย่าให้อะไรมาหยุดเราได้ล่ะ ^^
ฝากเพื่อนๆ ติดตามเรื่องเล่าจากการเดินทาง+ทริปแบบมันส์ๆ ได้ที่ 🥰🐯
Facebook: https://web.facebook.com/katewandermore
IG : https://www.instagram.com/kate_wandermore/
Twitter: https://twitter.com/kate_wandermore
IT IS NICE!
ถูกใจถูกใจ