ฉันยืนหิ้วฟิน หรือตีนกบใบยาว ๆ สาวเท้าไปข้างหน้าอย่างไม่มั่นคงนัก ด้วยเพราะโคลงเคลงตามแรงคลื่นที่มากระทบเรือ การลงน้ำครั้งนี้มีความกดดันแฝงอยู่บ้าง เป็นการสอบของสถาบันสอนดำน้ำ Sea Mastermind ตามหลักสูตร Padi Free diver ที่ทรหด ครั้งนี้เป็นการลงน้ำครั้งที่สอง หลังจากที่ครั้งแรกต้องแคนเซิลไปเพราะคลื่นแรงที่ ‘สันฉลาม’
จากการลงน้ำครั้งแรกที่จบลงด้วยความตื่นเต้น ทำให้ฉันต้องปรับลดตะกั่วที่ถ่วงบนเข็มขัดออกไปก้อนหนึ่ง เหลือไว้ที่เอวเพียงสองก้อนเพื่อไม่ให้หนักเกินไป และหาถุงเท้ามาใส่รองก่อนใส่ฟิน ให้กระชับพอดีเท้า
อาการพะอืดพะอมเริ่มก่อกวนอยู่ข้างใน เพราะท้องว่างและกลิ่นอะไรเหมือนกับน้ำมันเรือลอยโชยมา
“Free diver จะทานมากไม่ได้ และอย่างน้อยต้องทานมาให้เรียบร้อยก่อนลงดำน้ำ 2 ชั่วโมง” เป็นข้อปฏิบัติที่ free diver ทุกคนทราบดี ฉันผู้กินจุ เลยได้แต่มองพี่ ๆ บนเรือที่ดำน้ำแบบ scuba ทานอาหารกันอย่างเต็มอิ่ม ส่วนฉันมีเพียงสแนคบาร์ นมถั่วเหลือง และหมูปิ้งชิ้นเล็ก ๆ สองไม้กินรองท้องมาตอนเจ็ดโมงเช้า ซึ่งตอนนี้ก็ย่อยไปหมดแล้วเรียบร้อย และรู้สึกทานอะไรไม่ค่อยลงนักตอนมื้อเที่ยง เมื่อเรือของเรามาถึงแหลมญี่ปุ่น ฉันรู้สึกอุ่นใจขึ้น คลื่นที่นี่ดูสงบกว่าที่สันฉลามมาก
“นี่คือทะเล” อาจารย์โป้ บอกพวกเรา ทะเลเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความชำนาญในการคาดการณ์ เพราะเวลาเพียงชั่วครู่ จากทะเลที่มีคลื่นแรงเหมือนม้าพยศ ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
[booking_product_helper shortname=”freedive inspire”]

ไล่ตามลูกเทนนิสใต้น้ำ กับการต่อสู้กับแรงดันใต้ทะเล
ในการสอบ อาจารย์จะติดลูกเทนนิสไว้สองลูกที่เชือกสีแดง เราเรียกเชือกนี้ว่า Drop line เป็นเชือกที่ผูกกับทุ่น และเราจะผูกข้อมือกับเชือกผ่าน Lanyard เพื่อช่วยไม่ให้ดำออกนอกเส้นทาง เราสามคนเกาะทุ่นกันอยู่กลางทะเล ในขณะที่อาจารย์จะมีทุ่นเล็ก ๆ อีกทุ่นหนึ่งผูกกับทุ่นของเรา ลอยอยู่ใกล้ ๆ กัน มีทีมงาน scuba คอยดูแลความปลอดภัยให้ใต้น้ำ และทุกครั้งที่เราดำลงไป จะมีอาจารย์ลงไปดูแลอย่างใกล้ชิด
การสอบตามหลักสูตรต้องผ่านการ Certify ที่ระดับความลึก 15 เมตร และสอบ Rescue ที่ระดับความลึก 10 เมตร ลูกเทนนิสจะเป็นเป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง แต่ในช่วงแรก ๆ เพื่อความปลอดภัย อาจารย์จะทดสอบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูก่อนว่าพวกเรารับแรงดันใต้น้ำได้ที่ระดับใด แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป้าหมายขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกครั้งที่ฉันดำลึกลงไป ฉันรู้สึกถึงแรงดันที่บีบอัดอะไรสักอย่างในร่างกายของฉัน ความรู้สึกปวดที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นที่ “หู” ซึ่ง Free diver จะต้องเคลียร์หูตั้งแต่เริ่มดำลงมา และเคลียร์อยู่เรื่อย ๆ (เราจะไม่เคลียร์หูเมื่อปวดเพียงอย่างเดียว)
หากใครมาเรียน Free diving จะค้นพบว่าการเคลียร์หูนี่เองที่อาจกลายเป็นปัญหาหลักของเรา เพราะในกรณีที่เราเคลียร์หูไม่ได้ ก็จะฝืนดำลึกลงไปไม่ได้เช่นกัน อาจารย์โป้ บอกว่า สาเหตุหลักที่ free diver ส่วนใหญ่ขึ้นสู่ผิวน้ำเร็ว ไม่ได้เป็นเพราะหมดลม แต่เป็นเพราะปวดหู…


ฉันดำดิ่งลงสู่ท้องทะเล…การที่ฉันยังมองเห็นท้องน้ำและปลาน้อยที่แหวกว่ายอยู่ข้างใต้ ทำให้ใจชื้นว่าไม่ได้ลึกอย่างที่คิด เพราะหากมืดมิดไม่เห็นท้องน้ำเลย ฉันคงกังวลมากกว่านี้
ฉันทำได้ดีขึ้นในการลงน้ำครั้งนี้ เป็นเพราะมั่นใจในความเป็นมืออาชีพของอาจารย์และทีมงาน เลยยิ่งรู้สึก relax มากขึ้น บวกกับวิวใต้ท้องทะเลที่สวยสะกดใจ
ความสงบแบบนี้นี่เอง..ที่ทำให้เราควบคุมลมหายใจได้ดี
Fun Dive กับใจที่อิสระ
หลังสอบเสร็จ จะมีการลงน้ำครั้งที่ 3 ซึ่ง Sea Mastermind พาเราไปดำน้ำเล่น ผ่อนคลายหลังการสอบ เชื่อไหมว่าพวกเราทำได้ดีกว่าตอนสอบเสียอีก เพราะเป็นการดำน้ำที่ปราศจากความกังวลใด ๆ
เป็นการดำน้ำที่อยู่กับทะเล และวิวใต้ท้องน้ำ ไม่ได้อยู่ที่ลูกเทนนิส หรือท่าว่ายใด ๆ อีก


อาจารย์ชี้ให้ดูกล้อง เซลฟี่ใต้น้ำกันเบา ๆ
เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้มองพวกมันแค่เพียงบนผิวน้ำ ระยะไกล…
แต่ได้ไปอยู่ใกล้พวกมัน เหมือนเป็นพวกเดียวกัน…
จากการเทรคกิ้ง เดินด้วยสองเท้าขึ้นภูเขาอันไกลโพ้น สู่การดำดิ่งสู่ทะเลลึก
ทักษะ free diving นี้จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาเสริมให้ฉันเข้าใกล้ความฝันที่จะอยากจะสำรวจโลกใบนี้ และเข้าถึงโลกใบนี้ให้ได้มากกว่าเดิม
เป็นห้วงเวลาที่ฉันรู้ว่า การดำน้ำครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ สิ่ง…
…..
เรียนรู้วิธีการดำน้ำ และสอบในทะเลตามหลักสูตร Padi Free diver ได้ที่สถาบันสอนดำน้ำ Sea Mastermind :
https://www.facebook.com/seamastermind/
https://www.seamastermind.com/

หูยย สุดยอดดด เป็นอีกกิจกรรมที่อยากทำมากๆ เคยแต่ทำscuba
รู้สึก free diving ยาก แงงงกลัวๆ
แต่สักวันนึงเราจะเรียนแน่ๆ 🙂
ถูกใจLiked by 1 person
เรียนเลยค่าาา ^^
ถูกใจถูกใจ