กรณีเสือดำในทุ่งใหญ่นเรศวร เหมือนความเจ็บปวดที่มากระทุ้งให้คนหลายล้านคนหันมาให้ความสนใจกับปัญหาการคุกคามสัตว์ป่าของมนุษย์ และการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสัตว์ที่ถูกถลกหนังอย่างเลือดเย็น
บ้างก็ว่า การได้เก็บหนังสัตว์ มาจากความเชื่อของคนที่หลงใหล อยากมีอำนาจ..
บ้างก็ว่า อยากได้ไปเป็นของประดับตกแต่งบ้าน เพื่อเสริมบารมี..
บ้างก็ลือว่า นำไปทำยาอายุวัฒนะ แม้ไม่มีการรับรองคุณสมบัติทางยาแต่อย่างใด..
นอกจากเสือดำตัวนี้ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับการล่านั้น รู้หรือไม่ว่าเพื่อนร่วมป่าอย่าง เสือโคร่ง ช้าง หมี และตัวลื่น ถูกลักลอบไปขายมากเป็นอันดับต้นๆ ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ (ไทย ลาว พม่า)1
ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่ง แรดตัวหนึ่งในเคนยา กลายเป็นแรดขาวตัวผู้ตัวสุดท้าย ที่ทางรัฐต้องส่งทหารมาคุ้มกัน 24 ชม. เพื่อปกป้องเจ้าแรดตัวนี้จากนักล่านอแรด2 หลังจากที่มีการล่านอแรดกันอย่างบ้าระห่ำ มีแรดถูกฆ่าเฉลี่ยวันละถึง 3 ตัว ด้วยความหน้ามืดตามัวอยากได้เงินจากการค้านอแรด

ซึ่งการจบชีวิตสัตว์ 1 ตัว ไม่ได้เป็นเพียงการจบชีวิตสัตว์ 1 ตัว แต่ยังหมายถึงการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์บริเวณนั้นอีกด้วย เช่น การฆ่าเสือ 1 ตัวซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ยังกระทบต่อสัตว์อื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน เพราะเมื่อเสือ 1 ตัวออกล่าเหยื่อ เสือจะกินเหยื่อเพียงบางส่วนแล้วเหลือซากไว้ ซากนี้จะกลายเป็นอาหารของนกแร้งและหมาไนต่อไป3 ฯลฯ
เลยเกิดเป็นคำถามชวนคิดว่า
“มนุษย์กำลังเล่นอะไรอยู่กับห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ?!”



ในสายตาของนักเดินทางสายธรรมชาติ ฉันได้แต่ระบายความขุ่นเคืองในใจออกมาเป็นตัวอักษร ผ่านการหาข้อมูล
ยิ่งอ่านมาก เจอข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจความสำคัญของสัตว์ป่า 1 ตัว ยิ่งเสียใจมาก..
ฉันนั่งมองภาพรวมของกรณีนี้ที่เกิดขึ้น พยายามปะติดปะต่อและใคร่ครวญ ทำให้ฉันตั้งคำถามกับพฤติกรรมการ “ล่า” ของมนุษย์มากขึ้น
เพราะสัตว์ในธรรมชาติ “ล่า” เพื่อให้ตนเองได้มีกิน ได้อยู่รอด ล่าเพียงครั้งเดียว แต่อิ่มไปหลายมื้อ
ส่วนมนุษย์..มนุษย์นี่เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวในโลกที่ล่าสัตว์อื่นเพื่อผลกำไร และความสนุกสนาน
ต้องการครอบครอง เป็นเจ้าของ และอยู่เหนือชีวิตอื่น
ถ้าไม่มีนายทุนมาซื้อ ไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนขาย ไม่มีคนขายก็ไม่มีคนล่า
แต่โลกก็ยังคงอยู่ใต้อำนาจของน้ำเงินอยู่นั่นเอง…
ฉันเฝ้ามองพฤติกรรมนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างการเป็นนักเดินทางสายธรรมชาติกับนักล่า
ทำให้ฉันนึกถึงตัวละครในหนังเรื่องโปรดเรื่อง The Secret’s Life of Walter Mitty (2013) ชื่อ ฌอน โอ คอนเนลล์ ฌอนเป็นนักเดินทางและช่างภาพระดับโลกฝีมือประกาฬ
อาวุธเดียวที่ฌอนมีคือ กล้องถ่ายรูปเท่านั้น เราจะเห็นฉากฌอนนั่งซุ่มเฝ้าเสือดาวหิมะบนหิมาลัยผ่านเลนส์กล้องระยะไกลอยู่เงียบๆ และเมื่อเสือดาวหิมะยอมปรากฏกายออกมาจากโขดหิน ฌอนกลับเลือกที่จะไม่ลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพ
เพราะเขาบอกว่า เขาอยากอยู่กับโมเมนต์ที่ซึมซับความงดงามของเสือดาวหิมะ มากกว่าการได้ภาพถ่ายงามๆ สักใบกลับไป
ตัวละครฌอน จึงเป็นมุมมองของคนที่อยากเฝ้าสังเกตความงดงามของธรรมชาติ โดยมองว่าตัวเองเป็นเพียงส่วนเล็กจ้อยส่วนหนึ่งในโมเมนต์พิเศษนั้น ไม่ได้อยากครอบครอง แสดงความเป็นเจ้าของ หรือแม้แต่รบกวนสัตว์ป่า
ฌอนคือตัวแทนของนักเดินทางในอุดมคติ เป็นช่างภาพระดับเทพ หาตัวจับยาก เป็นฟรีแลนซ์ อยู่นอกเหนือของกฏเกณฑ์ใดๆ ในสังคม (แม้แต่การติดต่อสื่อสารกับเขา เรายังต้องส่งโทรเลข!)
อาจดูเหมือนเป็นคนมีความติสท์ มีโลกส่วนตัวสูง
แต่ฌอนกลับมีจริยธรรมของนักเดินทาง และมีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง (สังเกตได้จากฉากที่ฌอนเข้าไปร่วมวงเตะฟุตบอลกับชาวบ้านในหุบเขา หรือซีนตอนจบ ที่เราจะรู้ว่าฌอนมองเห็นความสำคัญของวอลเตอร์ จนแอบถ่ายภาพเขาเพื่อเอาไปขึ้นปกนิตยสารฉบับสุดท้าย เพื่อเห็นแก่การลงเรี่ยวลงแรงที่ผ่านมาของวอลเตอร์)
..
ไม่ว่าวันนี้เราจะนิยามตนเองเป็นนักเดินทาง นักท่องเที่ยว นักอนุรักษ์ คนรุ่นใหม่ ช่างภาพ นักเขียน หรือนักอะไรอีกหลายอย่าง เราล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้มีการตั้งคำถามกับกระบวนการล่า การลักลอบค้าสัตว์กันมากขึ้น
เราต่างเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพิพากษาและหยุดยั้ง
ก่อนที่การล่าของมนุษย์จะกลายเป็นตัวเร่งการสูญพันธุ์ของเพื่อนร่วมโลกไปมากมายกว่านี้.
..
ขอบคุณข้อมูลจาก
2Workpointnews
3ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Credit ภาพปก: sketched by Smith Bennett and appeared in the Illustrated Sporting and Dramatic News of July 3, 1875.
4 ไทยรัฐ
5 bear baiting ดูต่อได้ที่ลิงค์