กางแผนการเดินทาง ไต่เขาเส้น Kuari Pass ฉบับเที่ยวตามได้ | Wander More

เส้นทางเทรคกิ้ง: Kuari Pass (คัว-ริ-พาส)

พิกัด: รัฐอุตตราขัณฑ์ อินเดีย

วิธีเดินทาง (ปรับได้ตามความยืดหยุ่นและเวลาของแต่ละคน):

  1. นั่งเครื่องไปลง New Delhi >> พักในนิวเดลี 1 คืน
  2. ต่อรถบัสหรือรถไฟจากนิวเดลี ไปลงที่สถานีรถไฟเมือง Haridwar (ใช้เวลา 1 คืน เหมือนนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ลงใต้) >> ให้รถของแคมป์มารับที่นั่นตอนเช้ามืดของอีกวัน ไปยัง เมือง Joshimath ซึ่งเป็นเบสแคมป์
  3. วิธีกลับ: กลับย้อนเส้นทางเดิม Joshimath >> Haridwar >> New Delhi
  4. (หากใครอยากไปล่องแก่งต่อ แนะนำให้ลงที่เมืองริชิเกช ซึ่งดังเรื่อง rafting เสร็จแล้วค่อยนั่งรถมา Haridwar ก็ได้นะคะ สองเมืองนี้อยู่ห่างกันแค่ 1 ชม.)
  5. แนะนำให้เที่ยวเมือง Haridwar ด้วย ถ้ามีเวลาเหลือสัก 2 วัน

DSC07146_1200x800-144
Budget: (รวมตั๋วเครื่องบินและค่าเทรคแล้ว) 25,000-26,000 THB
ช่วงเวลาที่ไป: ธันวาคม (8 วัน)
ฤดูที่ไป: ฤดูหนาว
อุณหภูมิที่แคมป์: กลางวันเลขตัวเดียว/ กลางคืน -10 องศา
Trek Provider: เนื่องจากเคทไปคนเดียว เลยหาบริษัทที่รับคนร่วมจอยทีม โดยทาง Indiahikes เขาจะมีสล็อตวันที่จะออกเดินทางอยู่แล้ว เหมือนดังภาพด้านล่าง กรุ๊ปนึงมี 25 คน ซึ่งตอนแพลนการเดินทาง แนะนำให้จองของ India Hikes ให้เรียบร้อยก่อนที่จะจองตั๋วเครื่องบินหรืออย่างอื่นค่ะ

วิธีการจองทริปเทรคกิ้งกับ India Hikes

  1. เข้าไปที่ลิงค์นี้
  2. จะเห็นรายละเอียดของเส้นทาง และราคา 8,950 รูปีตัวโตๆ = ประมาณ 4,500 บาทไทย
  3. คลิ๊กเลือกกรุ๊ป (batch) ตามช่วงเวลาที่อยากไป  สังเกตได้ว่าบางกรุ๊ปเต็มแล้ว (บางเส้นทางยอดฮิตต้องจองล่วงหน้าหลายเดือนเลยทีเดียว)
  4. ลงทะเบียน
  5. บนเว็บไม่สามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาทางอีเมลภายในวันนั้น ให้เราขอวิธีชำระเงินแบบ international credit card เขาจะส่งลิงค์มาให้ชำระเงินออนไลน์

Screenshot_1

Screenshot_2

หลังจากจองทริปก็ให้จองตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถทัวร์ข้ามเมือง และที่พักในนิวเดลี เพื่อนำไปใช้ขอวีซ่า

>> รายละเอียดการขอวีซ่าอินเดีย มีคนเคยเขียนไว้ อ่านได้ที่ลิงค์นี้นะคะ

>> ตั๋วรถไฟ ไม่สามารถซื้อได้ เพราะมีกฏไม่รับการชำระเงินจาก international credit card เคทเลยหาบริษัทจองตั๋วรถทัวร์ที่รับบัตรเครดิตต่างประเทศแทน

รถทัวร์ข้ามเมือง: เคทนั่งจากสถานีรถบัสในนิวเดลี (อารมณ์เหมือนหมอชิตหรือสายใต้บ้านเรา) ไปเมือง Haridwar ซึ่งรถจะไปจอดสุดสายที่สถานีรถไฟเมือง Haridwar ในเช้ามืดของอีกวัน ประมาณ 04.30 น. อันเป็นจุดนัดพบที่ทาง India Hikes จะมารอรับเรา เวลา 06.30 น. (จุดๆ นี้ต้องไปนั่งหนาวรอในสถานีรถไฟนะ T^T)

จองตั๋วรถทัวร์ได้ที่ลิงค์นี้

แผนการเดินทาง (ของเคทมีเวลาน้อยหน่อย เพื่อนๆ เอาไปปรับได้นะคะ)

Day 1: เดินทางจาก Bangkok-Delhi​ (​บินตรง 4hrs.) ถึงนิวเดลี เข้าพักในโฮสเทล

ตรงช่วงนี้จะมีเวลาให้เที่ยวนิวเดลี แต่เคทมาเดลีเป็นรอบที่ 3 แล้วเลยไม่ได้ออกไปไหน นอกจากไปเดินตลาดใกล้ๆ ที่พัก

ตกกลางคืนต่อรถบัสข้ามเมืองไป Haridwar

Day 2: 06.30 น. นั่งรถของ India Hikes จาก Haridwar (ฮาริดวาร์) ไปเมือง Joshimath (โจชิมาช) ​(10-12hrs.)

ราคารถ ​–​ ​Rs.5,800​ ​/1 คัน ​(นั่งได้ 5-6​ คน) หารค่ารถกันกับเพื่อนร่วมรถคนอื่นๆ

ถึงเบสแคมป์ที่ Joshimath พบเพื่อนร่วมเทรค

ทานอาหาร ตรวจร่างกาย ฟังบรี๊ฟจากหัวหน้าแคมป์ แล้วนอนพัก (เป็นโฮสเทล)

Day 3: ขับจากเบสแคมป์ไปที่จุดเริ่มเดินเทรค เรียกว่า Dhak;​ ใช้เวลา ​45 นาที เริ่มเดินจาก​ Dhak​ ​(6,956​ ​ft)​ ​ไปยังแคมป์ 1​ ​Guling​ ​(9,832)​ ​ft; ใช้เวลา 5-6​ ​ชม.

ถึงแคมป์ 1 Guling นอนเต๊นท์เป็นคืนแรก

GOPR0114_1067x800-31_logo

Day 4:  เช้าออกเดินจาก Guling​​ ​ (​ 9,832)​ ​ft​ ​ไปยังแคมป์ 2​ ​Khullara (10,492​ ​ft);​ ใช้เวลา ​4-5 ชม.

ถึงแคมป์ 2 Khullara แคมป์ที่มีแต่หิมะ และต้องนอนบนพื้นหิมะ 2 คืน

G0590234_1067x800-132_logo

Day 5: วันเดินขึ้นซัมมิท ใส่รองเท้าตะปู เอาไปแต่ Day Pack ทิ้งสัมภาระไว้ที่แคมป์ ออกเดินจากแคมป์ 2 Khullara​ ​(10,492​ ​ft)​ ​ไปยังซัมมิท Chitrakantha/Tali​ ​(11,031​ ​ft)​ ​ผ่าน ​Kuari Pass​ ​(12,516​ ​ft);​ ใช้เวลา ​8​ ชม.

DSC07090_1200x800-89_logo

Day 6: เดินจาก Chitrakantha/Tali​ ​(11,031​ ​ft)​ ​ไปยัง Auli​ ​(8,625​ ​ft);​ วันนี้ผิดแผน เราใช้เวลาเดินทั้งหมดถึง 11-12 ชม. บวกกับตอนท้ายต้องเดินเลาะผ่านหมู่บ้านที่ทางเดินลำบากมาก ​

นั่งรถกลับเบสแคมป์ ใช้เวลา​ ​45​ ​minutes

นอนพักที่เบสแคมป์ 1 คืน

DSC07201_1200x800-199

Day 7: นั่งรถกลับจากเบสแคมป์ มา Haridwar ถึง Haridwar ราวๆ​ ​6.00 pm​

นั่งรถทัวร์ข้ามเมือง กลับนิวเดลี

Day 8: กลับกรุงเทพฯ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1. ถุงมือกันหนาวที่ใช้งานได้จริงๆ: สำคัญมาก ถุงมือที่เคทพกไปอุ่นมาก แต่ข้อเสียคือเวลาเดินเทรคจะเริ่มชุ่มเหงื่อ เลยต้องถอด พอถอดก็หนาว พอหนาวก็ใส่ใหม่ T^T แนะนำให้หาถุงมือแบบกันหิมะดีๆ ไปเลย เอาแบบมีห้านิ้ว ใส่แล้วกระชับมือ แต่ไม่รัดมือมากนัก
  2. หมวก: พกไปทั้งหมวกกันแดดที่มีผ้าปิดคอ+หมวกกันหนาว เลือกแบบที่ปิดมาถึงหูได้
  3. แว่นตา กันแดดกันลม: บนภูเขาที่มีหิมะขาวโพลนสะท้อนกับแสงอาทิตย์ หากไม่เอาไปจะทรมานสายตามาก น้ำตาไหลเลย (เคทลืมเอาไป เพราะครั้งนี้ใส่แต่แว่นสายตา)
  4. ไม้เทรคกิ้ง: มีคนถามว่าเอาไปไม้เดียวหรือสองไม้ดี? อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนนะ ส่วนตัวเคทใช้ไม้เดียวมาตลอด เพราะสังเกตจังหวะการเดิน+การใช้งานไม้เท้าของตัวเอง แม้ถืออยู่สองไม้ แต่ก็ใช้หลักๆ แค่หนึ่งไม้เสมอมา ครั้งนี้เลยพกไปแค่อันเดียวเลย ไม้เทรคกิ้งจะช่วยทุ่นแรงของข้อเข่าได้ดีถึง 20-30% และช่วยในการประคองตัวในที่ๆ เดินลำบากหรืออันตราย
  5. รองเท้าเทรคกิ้ง: ซื้อแบบดีๆ ไปเลยนะ กันน้ำ กันหิมะ มีการยึดเกาะที่ดี เพราะจะไม่มีการใส่รองเท้าผ้าใบกีฬาบนเส้นทางสายนี้แน่นอน
  6. กางเกงเดินป่า: แบบแห้งเร็วและกันเลอะ อันนี้หลายคนน่าจะมีอยู่แล้ว เอาไปสัก 2 ตัว (จริงๆ ตัวเดียวก็เอาอยู่)
  7. ทิชชู่เปียก: เอาไปใช้บนภูเขาช่วยได้เยอะเวลาเข้าห้องน้ำ แต่ไม่ให้ทิ้งลงหลุมดินที่ทางแคมป์ขุดไว้ ให้ทิ้งในถุงกระสอบที่ทางแคมป์เตรียมไว้ให้แทน
  8. ยา Diamox: (สำคัญ) เวลาทาน ให้ทาน 2 วันก่อนขึ้นที่สูง (แสดงว่าทานตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ และตอนอยู่ที่นิวเดลี จะเป็นเม็ดที่ 2 แล้ว) เคทซื้อยาตัวนี้กับทางเภสัชกร ที่โอสถศาลา โดยบอกเภสัชกรไปว่าเราจะเดินทางบนที่สูงกี่วัน ยานี้จะช่วยเรื่องโรคแพ้ความสูง (AMS) ได้ดีระดับหนึ่ง
  9. ยาอื่นๆ เช่น ยาสำหรับโรคประจำตัว พาราเซตามอล เบตาดีน ยาแก้ไข้ ยาธาตุน้ำขาว แก้หวัด วิคเวเปอร์รัป ผ้าพันแผล และยาแก้ท้องเสีย
  10. แป้งผงโยคี โรยถุงเท้ากันเหม็นอับ
  11. ผ้าขนหนูแบบแห้งเร็ว
  12. ไฟฉายคาดศรีษะ และไฟที่ใช้ห้อยในเต้นท์
  13. แบตสำรอง และที่ชาร์ตพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเราจะไปอยู่ในที่ๆ ไม่มีไฟฟ้าใช้เลย
  14. Daypack เป้ใบเล็กแบบพับเก็บได้ เอาไว้ใช้วันขึ้นซัมมิท
  15. ใบรับรองแพทย์ จากในไทย: (เพื่อเอาไปยื่นที่เบสแคมป์) เวลาสมัครกับทาง India Hikes จะมีแบบฟอร์มส่งมาทางเมลให้พริ้นท์ออกมา แล้วเอาไปหาหมอ
  16. Fitness proof: หลักฐานยืนยันว่าสภาพร่างกายเราแข็งแรงพอสำหรับเส้นทางนี้ เป็นผลการวิ่งของเรา ซึ่งเขาจะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ต้องสามารถวิ่งได้ pace 8 เป็นอย่างต่ำ ในระยะ 5 กม. ให้พริ้นท์ออกมาด้วย (เพื่อเอาไปยื่นที่เบสแคมป์)

เราก็วิ่งบ่อยๆ แล้วเลือกอันที่ดีที่สุดไปให้เขา 2 อัน

23593810_10155377737474081_3987949299167023459_o
ตัวอย่าง Fitness Proof จะเอาจาก Running App อันไหนก็ได้ ซึ่งก่อนออกเดินทาง 1 เดือน ทาง India Hikes จะมีการขอดูก่อนล่วงหน้า บางครั้งจะสุ่มดูเป็นบางวันว่าเราได้วิ่งหรือไม่
  1. เอกสารยอมรับความเสี่ยงในการเทรค: พริ้นท์ออกมาจากอีเมล กรอกและเอาไปยื่นที่เบสแคมป์

*การเทรคกับ India Hikes จะไม่มีลูกหาบ เราทุกคนต้องแบกเป้เองตลอดการเดินทาง ท่องจำไว้ว่าให้ Pack light = จัดกระเป๋าให้เบาที่สุด ของเคทเป้หนัก 7 กก. เวลาอยู่บนภูเขาจะรู้สึกหนักกว่านี้สามเท่า

7 กก. x3 = ความรู้สึกหนักเท่ากับแบกเป้ 21 กก.ตอนอยู่บนภูเขา

**รองเท้าตะปู และถุงนอน: ไม่จำเป็นต้องเอาไปเองนะคะ เพราะทาง India Hikes จะมีเตรียมไว้ให้ ซึ่งถุงนอนของ India Hikes จะกันได้ -10 องศา ส่วนตัวคิดว่ายังหนาวอยู่ดีเพราะนอนบนพื้นน้ำแข็ง บรึ๋ออออออ! ถุงนอนนั้นเอาไม่อยู่ ถ้าให้ดีควรเป็นถุงนอนที่กันได้ -30 องศาไปเลย

Screenshot_9-8_logo

Tips & Tricks รับมือกับความหนาวยังไงดี

ความหนาว มีผลต่อการนอนมากๆ หากเรานอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ การเดินไต่เขาในวันรุ่งขึ้นจะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม การเตรียมให้ร่างกายอบอุ่นจึงสำคัญมาก เลยอยากแชร์วิธีเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจมีเพื่อนๆ หลายคนทราบดี เช่น

  • ไลน์เนอร์ หรือซับในถุงนอน แม้ India Hikes จะมีไว้ให้ แต่เราเตรียมไปเองอีกชั้นนึงก็ดี เพราะไลน์เนอร์ดีๆ จะช่วยให้อุ่นเพิ่มขึ้นอีกตั้ง 5 องศา
  • ให้เก็บของที่เราอยากให้อุ่นๆ ไว้ในไลน์เนอร์เวลานอน เช่น แบตเตอรี่กล้อง (แบตจะหมดเร็วเมื่ออยู่ในที่ๆ เย็นจัด) น้ำยาคอนแทคเลนส์, น้ำดื่ม, หรือแม้กระทั่ง ทิชชูเปียก! เคทไม่ได้เก็บทิชชู่เปียกไว้ในไลน์เนอร์ ตื่นเช้ามากลายเป็นน้ำแข็ง เอามาใช้งานตอนเข้าห้องน้ำไม่ได้เลย T^T
  • Base layer ทั้งเสื้อและกางเกง เป็นสิ่งที่ควรมี
  • เสื้อกันหนาว ใครๆ ก็พกไป แต่กางเกงกันหนาวนี่แหละยิ่งสำคัญ: เสื้อกันหนาวของเคท กันหนาวได้ -30 องศา อุ่นมาก แต่กางเกงเป็นกางเกงเดินป่าธรรมดา ชั้นในเป็นกางเกงไหมพรมแบบสลิม ใส่สองชั้นแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้อุ่นอะไร เวลานอนนิ่งๆ จะทรมานมาก เย็นขา จนนอนไม่หลับ
  • นอนในถุงนอน อย่าสวมเสื้อกันหนาวหมดทุกชั้น ให้ร่างกายได้มีพื้นที่ปล่อยไออุ่นออกมาในถุงนอนบ้าง (ข้อนี้วิกัส หัวหน้าแคมป์บอกมา)
  • ดาวน์แจ็คเก็ตที่ไม่ได้ใส่ ให้ม้วนแขน แบบที่จะพอสอดเท้าลงไปได้ เวลานอนจะได้ไม่เย็นเท้า เพราะแค่ถุงเท้ากันหนาวก็เอาไม่อยู่

แจกแจงค่าใช้จ่าย

วีซ่า 4,358 บาท

ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ 12,000 บาท

ค่าที่พักในนิวเดลี 2 คืน  600  บาท (โฮสเทล ชื่อ GoStops มีแมวด้วย อันนี้แนะนำให้จองผ่าน hostelworld.com)

ค่าเทรคกิ้ง 4,500 บาท

ค่าเดินทางระหว่างเมือง 2,000 บาท  (ตอนเดินทางไปกลับ Haridwar-Joshimath หารกับเพื่อนชาวอินเดียในกรุ๊ปของ India Hikes ได้)

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่มในนิวเดลี ทิปส์ ฯลฯ  2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ค่าอาหารเคทจ่ายน้อยมาก เพราะใช้เวลา 6 วันอยู่บนเขา ซึ่งอาหารจะรวมอยู่ในค่าเทรคที่จ่ายให้ India Hikes อยู่แล้ว อิ่มท้องตั้งแต่อยู่เบสแคมป์จนวันกลับเลย)

ประกันการเดินทาง 700 บาท (สำคัญมาก เคททำประกันการเดินทางไว้ตลอด ทุกทริปเลย)

…………………………………

อ่านรีวิวตอนที่ 1 (แคมป์ 1) http://bit.ly/2mTDNFv
อ่านรีวิวตอนที่ 2 (แคมป์ 2/ ไต่ยอดซัมมิท) http://bit.ly/2n093mQ

Advertisement

Published by kate_wandermore

สาวผู้​หลง​รัก​การ​ผจญภัย​ ไต่เขา​ เข้า​ป่า​ เข้าหาผู้คน​พื้น​เมือง​ และ​ธรรมชาติ​ เคท​รัก​การ​อ่านและการเดินทางสำรวจ​ หลาย​ครั้ง​จึง​หยิบ​จับ​ข้อมูล​ต่าง ​ๆ มา​เล่า​ต่อ​ยอด​จาก​การ​เดินทาง​ เพื่อ​หวัง​สร้าง​แรงบันดาลใจ​แก่​เพื่อน​นัก​เดินทาง​ด้วย​กัน​ และ​หวัง​แสวงหา​ประสบการณ์​และเรียนรู้​จาก​การ​เดินทาง​แต่​ละ​ครั้ง​ให้​มาก​ขึ้น เคท​ชอบ​ลุย​เดี่ยว​ เพราะ​เธอ​ชอบ​ความ​คล่องตัว​เวลา​ตัดสินใจ​จะ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ และ​เธอ​คิดว่า​การ​เดินทาง​คน​เดียว​จะ​ช่วยเอื้อ​ให้​คน​ท้องถิ่น​กล้า​เข้า​หา​เธอ​มาก​ขึ้น​กว่า​เดิม​ รวมทั้ง​​เปิดโอกาส​ให้​เจอ​มิตรภาพ​ใหม่​ ๆ​ ที่​อาจ​ไม่​คาด​คิด​มา​ก่อน แม้ต้องโอบรับอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า เธอ​มีหัวใจเป็นนักสำรวจ และฝัน​จะ​ได้​สำรวจโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งทะเลทราย ขั้วโลก ปีนภูเขาน้ำแข็ง หรือ free diving ในสถานที่ที่งดงามราวกับเทพนิยาย แม้มีอันตรายรออยู่ก็ตาม.

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: