ตีสอง.
ครึ่งหลับครึ่งตื่น ฉันผุดลุกขึ้นจากเตียงเดินเข้าไปในห้องน้ำ อาการเหมือนคนยังไม่สร่างเมา ฉันโน้มตัวลงกุมฝาชักโครกไว้แน่น อาเจียนลงส้วมจนหมดท้อง รู้สึกโล่งสบายหัวขึ้นหน่อย แล้วเดินกลับมานอน สักพักก็เดินกลับไปเข้าห้องน้ำอาเจียนต่อเป็นรอบที่สอง ก่อนจะคลานขึ้นเตียงไปด้วยความทรมาน…
หลังจากลงเครื่องบินที่ลาดักห์ได้สองชั่วโมง ร่างกายฉันยังคงปกติดี ยังคงเริงร่า เดินกินลมชมวิวระยะทางสั้นๆ ไปตลาดเลห์ได้
เข้าชั่วโมงที่สาม เวลาประมาณสี่โมงเย็น ขณะที่ฉันกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการพยายามเดินขึ้นพระราชวังเลห์ สักพักฉันก็ได้ยินเสียงสัญญาณ
ตึ๊กๆๆๆ…
เสียงนั้นมากับความปวดหน่วงๆ ในศีรษะ เป็นเสียงที่ฉันได้ยินคนเดียว เสียงของชีพจรที่เต้นแรง..เร็ว..ราวกับจะเตือนให้ฉันรีบกลับห้อง
เป็นเสียงเตือน จากร่างกาย…
พระราชวังเลห์ที่อยู่สูงลิบข้างหน้าไม่ได้อยู่ในสายตาอีกต่อไป ฉันทำได้เพียงค่อยๆ เดินกลับห้อง วิ่งไม่ได้ อาการจะแย่ไปกว่านี้ พลางได้ยินเสียงที่อยู่ในหัวเต้นตึ๊บๆๆ
ปวดหัวเหมือนจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ…
เหมือนมีใครเอาเหล็กหนักๆ มาบีบหัว…
ด้วยความสับสนระคนความกังวล ฉันรู้ว่า ‘กำลังโดนโรคแพ้ความสูงเล่นงานเข้าให้แล้ว’
กลับถึงที่พัก ฉันพยายามนอนพักให้มากที่สุด แต่ข่มตานอนอย่างไรก็นอนไม่หลับ คืนนั้นจำได้ว่าแทบหลับไม่ลงเลย ฉันนอนสู้กับโรค AMS อยู่เพียงลำพัง มีเพียงไฟสีส้มสลัวๆ ในห้องเป็นเพื่อน
ฉันดื่มน้ำจนหมดไปสองลิตร ร่างกายเหมือนจู่ๆ ก็ถูกดูดเอาพลังชีวิตไปทั้งหมด หากใครเป็นแฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วมาเจอโรคนี้ คงนึกถึงฉากที่ผู้คุมวิญญาณดูดพลังชีวิตจากคนอื่นไปเพิ่มเติมพลังให้กับตัวเอง ร่างกายดูอ่อนแอลงไปถนัดตา ไม่มีเรี่ยวแรงแม้เพียงจะขยับหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ
สภาพจิตใจยิ่งหนักหน่วงย่ำแย่กว่า
ฉันได้แต่คิดว่า “พอแล้ว! ไม่ไปแล้ว! ไม่เดินเขาแล้วพรุ่งนี้ จะยกเลิกให้หมด ไม่อยากทำอะไรแล้ว
อยากกลับบ้าน…”
..
อารมณ์ ‘คิดถึงบ้าน’ นี่เอง ทำให้น้ำตาไหลลงข้างแก้มโดยไม่รู้ตัว
ร่างกายที่อ่อนแรง แต่กลับไม่มีไข้ อาการปวดหัวที่หน่วงๆ อยู่ค่อยๆ หายไปหลังจากอาเจียนตอนตีสองของคืนนั้น
หกโมงเช้าวันต่อมา อาการเหล่านี้หายไปเป็นปลิดทิ้ง
เหมือนกับเมื่อคืนไม่มีใครเป็นอะไร
ไม่มีใครต่อสู้กับ AMS และสงครามในจิตใจของตัวเองแต่เพียงลำพัง
หลังจากวันนั้น อาการของโรคยังคงแวะเวียนมาหาในสามวันแรก ซึ่งเป็นวันที่ฉันเดินเขา อาการที่ว่านี้ได้แก่ นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ (ทานได้แต่น้ำและน้ำผลไม้) ปวดหัว ตัวร้อน หอบ ฯลฯ ก่อนที่อาการเหล่านี้จะหายไปทั้งหมดในวันที่ 4 ของการมาลาดักห์
โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ ‘คนท้องถิ่น’ ที่ลาดักห์เอง
ลุงวังเกลและน้าอังโม่ เจ้าของบ้านที่เคทไปพักเล่าให้ฟังว่า ในช่วงฤดูหนาวบางครอบครัวที่พอมีกำลังทรัพย์ จะบินไปนิวเดลีเพื่อหนีหนาวอยู่ที่นั่นหลายเดือน แล้วค่อยกลับมาลาดักห์ช่วงฤดูร้อนที่อากาศดีขึ้น ครอบครัวของคุณลุงวังเกลก็เช่นกัน บินไปอยู่นิวเดลีหลายเดือน พอกลับมาลาดักห์ก็ต้องพักผ่อนอยู่แต่ในบ้าน ประมาณ 7 วัน เพื่อปรับสภาพร่างกายให้ชินกับระดับความสูงที่เปลี่ยนไป (เรียกว่า Acclimatize)
[booking_product_helper shortname=”search box -nepal”]
โรคแพ้ความสูงจึงมีอาการที่แปลกมาก เหมือน ‘โดนสาป’ และการทานยาก็ใช่ว่าจะช่วยทุเลาได้เสมอไป
หลายคนอาจไม่โชคดีนัก บางคนเป็นหนักถึงขั้นต้องหามส่งโรงพยาบาล บางคนอยากไต่เขา แต่ดันโดนโรคแพ้ความสูง คร่าชีวิตไปเสียก่อนที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเอง
วันนี้เคทเลยอยากหยิบเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อการเตรียมรับมือที่ดีค่ะ
Altitude Sickness คืออาการที่ร่างกายไม่สามารถปรับสภาพให้เข้ากับบรรยากาศที่มีออกซิเจนเบาบางอย่างรวดเร็วได้
ผู้ที่เสี่ยงเกิดอาการของโรคนี้ คือผู้ที่เดินทางไปยังความสูงเกิน 2500 ม.เหนือระดับน้ำทะเล ในเวลาอันรวดเร็วหรือฉับพลัน ไม่มีการค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เพราะบนความสูงขนาดนั้นมีออกซิเจนในอากาศเบาบางลง
เชื่อกันว่าที่มาของการเกิดอาการ มาจากแรงดันในกระโหลกศีรษะที่พยายามปรับตัวเมื่อสมองรับออกซิเจนเข้าไปน้อยลงกว่าเดิมด้วย
โรคนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ว่า ส่งผลต่อร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร คนที่ร่างกายแข็งแรง แม้กระทั่งนักกีฬาโอลิมปิก ก็ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ได้สาหัสไม่แพ้คนธรรมดา บางครั้งยังพบว่าในกลุ่มนักเดินทางกลุ่มเดียวกัน คนสูงวัยกลับไม่เป็นโรค Altitude Sickness

อาการแพ้ความสูง มี 3 ระดับ
1. Mild AMS (Acute Mountain Sickness): คืออาการที่เคทเล่าให้ฟังด้านบนนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมึนหัว เหมือนคนแฮงโอเวอร์หนักๆ หัวใจเต้นแรง ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ทานอาหารไม่ได้ ท้องเสีย นอนไม่หลับ
AMS เป็นอาการเริ่มแรกที่เป็นสัญญาณเตือนของ HAPE และ HACE ที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
2. HAPE (high altitude pulmonary edema): คืออาการ ‘น้ำท่วมปอด’ เกิดจากของเหลวเข้าท่วมปอด ทำให้มีอาการหอบ หายใจลำบาก แม้กำลังนั่งพักอยู่เฉยๆ ก็หอบได้ ไข้ขึ้นสูง ไอมีเสมหะ และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
3. HACE (high altitude cerebral edema): คืออาการ ‘สมองบวม’ ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง เดินล้ม อาเจียน เพ้อ เห็นภาพหลอน ก่อนเสียชีวิตผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติ
ส่วนใหญ่อาการ HAPE และ HACE จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันค่ะ
การเตรียมตัวและการบรรเทาอาการ
1. วิธีที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีที่สุด คือ การรีบพาตัวเองไปอยู่ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าให้เร็วที่สุด
2. ในช่วงระยะแรกที่ร่างกายอยู่บนความสูงเกิน 2500 ม. เหนือระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว เช่นนั่งเครื่องบินมา ควรพักผ่อนในที่พัก ให้ร่างกายปรับสภาพก่อน
3. การวางแผนในการเดินเขา หรือการไต่ระดับความสูง ในวันๆ หนึ่ง ไม่ควรสูงเกิน 500 ม.ของวันก่อนหน้านั้น
4. เดินช้าๆ ไม่ควรกระโดด วิ่ง หรือรีบเดินมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดอาการได้ง่ายมากขึ้น
5. ยังไม่มียาใดรักษาโรคนี้ได้ ปัจจุบันยาที่ใช้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดที่พอจะทุเลาอาการได้ คือ Diamox ซึ่งควรให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาให้ และรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
6. จิบน้ำมากๆ ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
7. ออกซิเจนกระป๋องมีจำหน่าย และ Gamow bag หรือถุงปรับความดัน ใช้บรรเทาอาการ AMS ได้
8. ขอให้คนใกล้ชิด พาไปส่งโรงพยาบาลทันทีหากอาการแย่ขึ้น มีอาการของ HAPE หรือ HACE อย่าฝืนเดินทางหรือไต่ระดับความสูงต่อ เพราะอันตรายถึงชีวิต
9. หากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อยากเดินทางไปบนที่ที่สูงกว่า 2500 ม.เหนือระดับน้ำทะเล ควรเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ

ถุง Gamow bag ที่หมอใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรค AMS เป็นถุงปรับความดันอากาศ ผู้ป่วยจะเข้าไปนอนข้างในเหมือนดักแด้รอการฟื้นตัว
Cr. ภาพจาก Reuben Tabner Photography
2 ความเห็นบน “รัก ‘เขา’ แต่ดันแพ้ ‘เขา’: เรื่องเล่าจากคนเคยเป็นโรคแพ้ความสูง (Altitude Sickness) │Wander More”